Page 70 - kpiebook65043
P. 70
0 สรุปการประชุมวิชาการ
สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23
ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่
สงครามใดในปัจจุบันใหญ่เท่ากับสงครามที่ทำผ่านโลกไซเบอร์ที่เรียกว่า “สงครามไซเบอร์”
(Cyber Warfare) สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยต้องรับมือกับโจทย์สงคราม
แบบใหม่ ในขณะที่รัฐบาลของบางประเทศอาจติด “กับดักทหารเก่า” ที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพล
ทางความคิดที่ล้าหลังทางการทหารและความมั่นคง อันส่งผลให้เกิดการซื้ออาวุธแบบเดิม
ที่ไม่สนองต่อความเปลี่ยนแปลงของมิติการสงคราม
9) ระบอบประชาธิปไตยจะต้องคิดถึงโจทย์เกี่ยวกับเรื่องการป้องกันประเทศ หรือ
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบอบประชาธิปไตยจะสร้างสมดุลระหว่างการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
กับกองทัพ ทั้งนี้ โจทย์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหารยังคงเป็นโจทย์สำคัญ
ให้นักประชาธิปไตยต้องคิดทุกยุคทุกสมัยไม่ต่างจากในศตวรรษที่ 20 แต่ว่าในศตวรรษที่ 21
การดำรงความสมดุลของ “ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหาร” มีความซับซ้อนมากขึ้น
หรือโดยนัยของปัญหาคือ ความสมดุลระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ ยังคงเป็น
โจทย์ที่ต้องคิดต่อในทุกสังคมไม่เว้นแม้แต่สังคมตะวันตก และโจทย์ชุดนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น
ภายใต้เงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงของการสงคราม และพัฒนาการของเทคโนโลยีทหาร
แม้ในด้านหนึ่งของปัญหาสงครามยังคงเป็นเรื่องของสงครามก่อความไม่สงบ ที่อาจจะไม่พึ่งพิง
อยู่กับพัฒนาการทางเทคโนโลยีทหาร และอาวุธสมรรถนะสูง
10) ระบอบประชาธิปไตยจะต้องคิดโจทย์ที่สำคัญอีกประการคือ ประชาธิปไตยจะต้อง
สร้างประสิทธิภาพของระบอบการเมือง ซึ่งก็คือการตอบคำถามว่าทำอย่างไรระบอบการเมือง
ที่เป็นประชาธิปไตยจะมีประสิทธิภาพในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง หรือรับมือกับ
ความท้าทายจากปัญหาชุดใหม่ ๆ กล่าวคือ จะทำอย่างไรที่ประชาธิปไตยจะสร้างให้เห็นภาพ
อย่างเป็นรูปธรรมว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
การปกครองระบอบเผด็จการ หรือทำอย่างไรที่จะส่งสัญญาณว่าประชาธิปไตย
มีขีดความสามารถในการแก้ปัญหาและ/หรือวิกฤตได้มากกว่าระบอบอำนาจนิยม เพราะไม่ว่า
ระบอบการเมืองแบบใดก็ตามที่ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาแล้ว ระบอบ
การเมืองนั้น น่าจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
11) สุดท้าย คำถามที่อยากทิ้งไว้ต่อเนื่องจากประเด็นในข้างต้นคือ ระบอบประชาธิปไตย
จะเสนอโครงการทางการเมืองอะไรในอนาคต เนื่องจากข้อเสนอของโครงการทางการเมือง
การแสดงปาฐกถานำ จากฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นประเด็นสำคัญในเวทีโลก และในเวทีภายใน เนื่องจากฝ่ายขวา
ตลอดรวมถึงฝ่ายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น มักจะมีข้อเสนอในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความท้าทาย
กับฝ่ายประชาธิปไตยเสมอ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น อาจเป็นการนำเสนอมุมมองในประเด็นความท้าทายของ
ประชาธิปไตยในกระแสโลกปัจจุบัน แต่ถ้าหากหันกลับมาพิจารณาถึง “ประชาธิปไตยไทย”
บ้าง จะเห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศเผชิญกับปัญหาและความท้าทายจนอยู่ในภาวะ
ที่อธิบายได้ว่ามีลักษณะ “ล้มลุกคลุกคลาน” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขับเคลื่อนและต่อสู้ของ