Page 42 - kpiebook63019
P. 42
37
มีอยู่ทุกกรอบแล้ว แต่ยังขาดความร่วมมือในกรอบของระดับรัฐสภา โดยแนวความคิดของรัฐสภาอินโดนีเซีย
ได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐ
สิงคโปร์ และราชอาณาจักรไทย โดยต่างเห็นพ้องถึงประโยชน์ของการสร้างความร่วมมือให้ใกล้ชิดในระหว่าง
รัฐสภาของกลุ่มประเทศอาเซียน จึงได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือการจัดตั้งองค์การรัฐสภาอาเซียนขึ้นถึง
3 ครั้ง และในครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2520 ได้ลงนามเห็นชอบในธรรมนูญขององค์การรัฐสภาอาเซียน เพื่อจัดตั้ง
องค์การรัฐสภาอาเซียนอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นมา
ต่อมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ 27 ณ เมืองเซบู
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้ประกาศใช้ธรรมนูญขององค์กรฉบับใหม่ โดยได้เปลี่ยนชื่อจากองค์การรัฐสภาอาเซียน
มาเป็นสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter - Parliamentary Assembly : AIPA) เพื่อสร้างความเข้มแข็ง
ให้แก่องค์กร และบูรณาการการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนยกระดับความร่วมมือ
ระหว่างรัฐสภาในประเทศสมาชิกอาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานขององค์กร
เพิ่มช่องทางการทำงานร่วมกันกับอาเซียน โดยการแลกเปลี่ยนการเข้าร่วมประชุมระหว่างประธาน AIPA และ
ประธานคณะกรรมการประจำอาเซียน รวมทั้งให้อำนาจ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ในการริเริ่มการจัดทำกฎหมาย
ในประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสนใจร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN
Community)
สมัชชารัฐสภาอาเซียนจัดประชุมสมัชชาใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อกำหนด
นโยบายของ AIPA พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่ออาเซียน และเสนอแนะมาตรการด้านรัฐสภาและ
มาตรการด้านนิติบัญญัติในการพัฒนาอาเซียนและแก้ไขปัญหาในอาเซียน
การประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนจะต้องประกอบไปด้วยผู้แทนจากรัฐสภา
ประเทศสมาชิก ประเทศละไม่เกิน 15คน โดยมีประธานรัฐสภาหรือบุคคลที่ประธานรัฐสภามอบหมายให้
ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะ ตามธรรมนูญสมัชชารัฐสภาอาเซียนกำหนดให้จัดการประชุมปีละหนึ่งครั้ง และในกรณี
ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามนี้ได้ ให้ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งสถานที่ในการจัดการประชุมสมัชชา
ใหญ่นั้น ประเทศสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับอักษร หากในกรณีที่ประเทศ
เจ้าภาพไม่สามารถจัดการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนได้ ให้คณะกรรมการบริหารเป็นผู้ตัดสินว่าจะใช้
สถานที่ใดเป็นที่จัดการประชุม
ที่ประชุมสามารถริเริ่มเสนอแนะแนวนโยบาย ตลอดจนผลักดันให้เกิดการจัดทำ
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันภายในอาเซียน เพื่อเสนอให้ฝ่ายบริหารพิจารณา ข้อมติที่ได้รับ
การรับรองจากที่ประชุมจะถูกส่งผ่านไปยังหน่วยประจำชาติเพื่อดำเนินการแจ้งให้รัฐบาลและรัฐสภาแห่งชาติ
รับทราบและปฏิบัติตามข้อมตินั้น ๆ ต่อไป
ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่
29 สิงหาคม 2562 โดยช่วงการส่งมอบหน้าที่จากประเทศสิงคโปร์มาให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุม
ดังกล่าว อยู่ในระหว่างที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังปฏิบัติหน้าที่อยู่
การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐสภาไทย (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) โดยใช้เกณฑ์และตัวชี้วัดของ Inter-Parliamentary Union (IPU)