Page 100 - kpiebook62009
P. 100
รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการประเมินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเข้ารับรางวัลพระปกเกล้า ประจำปี 2562
ปธาน สุวรรณมงคล (2543, น. 164) กล่าวถึง การมีส่วนร่วมของประชาชนใน
ท้องถิ่น ว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดการท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความ
โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดกฎ ระเบียบ เนื่องจาก ผู้บริหารท้องถิ่นต้องคำนึงถึงเสียงเรียกร้องและการถูก
ตรวจสอบจากประชาชนผู้ที่เลือกตนเอง เข้ามาบริหารท้องถิ่น ตามที่กฎหมายได้เปิดช่องให้ประชาชน
สามารถดำเนินการได้แล้วในขณะนี้ ดังนั้นการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องเปิด
โอกาสให้ประชาคมท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมรับรู้ ร่วมตัดสินใจ ในขั้นตอนที่สำคัญของการทำงาน เช่น
การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น การจัดทำแผนงาน โครงการเพื่อจัดทำเป็นข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี
ของท้องถิ่นนั้นและได้กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นองค์กรที่เปิด (Open Organization)
โดยที่เปิดให้กับประชาชนได้มีส่วนร่วมทั้งโดยตรงและทางอ้อม และกระบวนการปฏิบัติงานขององค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเปิดให้ฝ่ายต่างๆ ได้มีส่วนร่วมด้วยทั้งในแง่ของการรับฟังความคิดเห็น
ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ และร่วมติดตามประเมินผล ซึ่งเป็นการบริหารจัดการท้องถิ่นที่ดีได้ทางหนึ่ง
ไพรัตน์ เดชะรินทร์ (2531, น. 843) กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนอาจตี
กรอบได้แตกต่างกัน แต่เดิมทีนั้น (รัฐ) มักจะมองในแง่หนึ่งของการร่วมสมทบแรงงาน วัสดุ เงิน ร่วมคิด
ร่วมวางแผนและร่วมกันทำงาน หรืออาจจะมองอีกแง่หนึ่งของการเน้นการมีส่วนร่วมในการร่วมคิด
ร่วมวางแผน ร่วมทำงาน และร่วมบำรุงรักษามากกว่าร่วมสบทบ ด้านวัตถุและเงิน แม้ว่าจะยังจำเป็นอยู่
ก็ตาม
พิสิฐ ศกรียพงศ์ (2542, น. 17) ได้กล่าวถึงความหมายการมีส่วนร่วมของประชาชน
ว่ามีความหมายรวมตั้งแต่การมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รายละเอียดดำเนินการโครงการที่อาจมี
ผลทั้งทางบวกและทางลบต่อตนเองและ/หรือชุมชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข่าวสารที่
เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการพิจารณาถึงรายละเอียดผลดีผลเสียจากการดำเนินโครงการและมีส่วนร่วมใน
การตัดสินใจ ในการดำเนินงาน ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบ ป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจ
เกิดจากการดำเนินโครงการ จึงอาจกล่าวได้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนแรกที่ริเริ่ม
จะดำเนินโครงการ ขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของการดำเนินโครงการ และการมีส่วนร่วมใน
การติดตามตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้
อาจสรุปได้ว่า แนวคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นการที่ประชาชนมี
ความคิดและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของตนในการตัดสินใจจัดการควบคุมการใช้ และ
กระจายทรัพยากรธรรมชาติตลอดจนปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีพ
ทางเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชน ดังนั้น การมีส่วนร่วมจึงเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนตาม
แนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พัฒนาการรับรู้ สติปัญญา และ
ความสามารถในการตัดสินใจกำหนดชีวิตด้วยตนเอง ดังนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นทั้งวิธีการ
(Means) และเป้าหมาย (Ends) ในเวลาเดียวกัน
59