Page 49 - kpiebook62008
P. 49
๑๘
๒.๒.๓.๑ หลักความเป็นธรรม (Equity)
๓๖. ความหมายและความสำคัญของหลักความเป็นธรรม ความเป็นธรรมในการเสียภาษีสามารถจำแนก
ออกเป็นหลักการย่อย ๒ หลัก ได้แก่ หลักความเป็นธรรมตามแนวนอน (Horizontal Equity) และหลักความเป็น
ธรรมตามแนวตั้ง (Vertical Equity) โดยความเป็นธรรมตามแนวนอน หมายถึง บุคคลที่อยู่ในสภาวะหรือ
พฤติการณ์เดียวกันต้องเสียภาษีเท่ากัน ซึ่งสภาวะหรือพฤติการณ์เหล่านั้นอาจกำหนดให้ขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้
จำนวนรายจ่าย หรือสถานภาพทางครอบครัว เป็นต้น ดังนั้น หากกำหนดให้จำนวนรายได้เป็นเกณฑ์ในการ
พิจารณา บุคคลที่มีรายได้เท่ากันควรต้องเสียภาษีในจำนวนที่เท่ากัน ส่วนความเป็นธรรมตามแนวตั้งนั้นมีลักษณะ
ตรงข้ามกับหลักความเป็นธรรมตามแนวนอน กล่าวคือ บุคคลที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมหรือพฤติการณ์ที่ต่างกันควรมี
๓๒
ภาระภาษีที่แตกต่างกันไปตามสภาวะหรือพฤติการณ์ของแต่ละบุคคล
๓๗. บทบาทของหลักความเป็นธรรมที่มีต่อหน้าที่และสิทธิของผู้เสียภาษี หลักความเป็นธรรมเป็นหลักการที่
อยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งพิจารณาถึงความสามารถในการเสียภาษีของบุคคล ดังนั้นในการกำหนดหน้าที่
ในการเสียภาษีให้แต่ละบุคคลว่าบุคคลแต่ละคนจะมีหน้าที่เสียภาษีอย่างไร จำนวนเท่าใด รัฐต้องคำนึงถึง
ความสามารถของผู้เสียภาษี ในแง่ของสิทธิ ผู้เสียภาษีต้องมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันตลอดกระบวนการจัดเก็บภาษี
อย่างไรก็ตาม หลักความเป็นธรรมมิได้ปรากฏอยู่ในกฎหมายเป็นการเฉพาะแต่หลักการดังกล่าวมีความสอดคล้อง
กับหลักความเสมอภาคทางภาษีซึ่งได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามหลักการ
ทั้งสอง
๒.๒.๓.๒ หลักความแน่นอน (Certainly)
๓๘. ความหมายและความสำคัญของหลักความแน่นอน หลักความแน่นอนนี้นอกจากจะเป็นหลักเกณฑ์ที่
สำคัญของระบบภาษีอากรที่ดีแล้ว ยังเป็นหลักสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียภาษีด้วย เนื่องจากประชาชนผู้มี
หน้าที่ต้องเสียภาษีย่อมต้องการทราบรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการภาระภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องเสีย ไม่ว่าจะเป็น
จำนวนภาษีที่ต้องชำระ ระยะเวลาในการชำระ วิธีการชำระ เป็นต้น ดังนั้น กฎหมายภาษีอากรจึงควรมีความ
แน่นอนและชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานภาษี อัตราภาษี กำหนดระยะเวลา หรือวิธีการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิ
๓๒ ไกรยุทธ ธีรตยาคีนันท์, ทฤษฎีภาษีเงินได้ และภาษีเงินได้ของไทย (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดวงกมล, ๒๕๒๑), หน้า ๗-๘.