Page 45 - kpiebook62008
P. 45
๑๔
๒.๒.๑.๒ บทบาทของหลักความชอบด้วยกฎหมายภาษีที่มีต่อการสร้างสมดุลระหว่างหน้าที่
และสิทธิของผู้เสียภาษี
๒๘. การจำกัดสิทธิของผู้เสียภาษีภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายภาษีเป็นการประกันสิทธิของผู้เสียภาษีว่า
ตนจะถูกจำกัดสิทธิเฉพาะแต่กรณีที่ผู้แทนของตนได้ให้ความยินยอมแล้ว อีกทั้งรัฐยังจะต้องใช้บังคับกฎหมายภาษี
ดังกล่าวภายใต้กรอบที่กฎหมายนั้นบัญญัติเท่านั้น หากกระทำการใดโดยปราศจากอำนาจหรือกระทำการเกินกว่าที่
กฎหมายกำหนด ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักความชอบด้วยกฎหมายภาษีและละเมิดต่อสิทธิของผู้เสีย
ภาษี ทั้งนี้ ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมายภาษี การกระทำดังกล่าวย่อมถูกตรวจสอบโดยฝ่ายตุลาการ การ
รับรองหลักความชอบด้วยกฎหมายภาษีไว้ในรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสมดุล
ระหว่างหน้าที่และสิทธิของผู้เสียภาษีเนื่องจากเป็นการประกันการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียภาษี
๒.๒.๒ การสร้างความเสมอภาคทางภาษี
๒๙. ด้วยความหลากหลายของแต่ละบุคคลในการรวมตัวเป็นสังคมย่อมมีความแตกต่างกันไปทั้งในเรื่องของถิ่น
กำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ฐานะ การศึกษา หรือศาสนา เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้บุคคลในสังคมมีความเสมอ
กัน มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ห้ามเลือก
๒๘
ปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความแตกต่างดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งหลักความเสมอภาคที่
รัฐธรรมนูญรองรับไว้นี้ก็ปรากฏในกฎหมายภาษีอากรเช่นเดียวกัน โดยกฎหมายภาษีอากรนั้นประกอบด้วย
๒๙
หลักการพื้นฐานทางกฎหมายมหาชนต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “หลักความเสมอภาคทางภาษี” (๒.๒.๒.๑)
นอกจากการบัญญัติหลักการดังกล่าวไว้แล้ว ยังปรากฏตัวอย่างการบังคับใช้หลักความเสมอภาคทางภาษีดังปรากฏ
ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย (๒.๒.๒.๒) ด้วยความสำคัญของหลักความเสมอภาคทางภาษี หลักความ
เสมอภาคทางภาษีจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการสร้างสมดุลระหว่างหน้าที่และสิทธิของผู้เสียภาษี (๒.๒.๒.๓)
๒๘ มาตรา ๒๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐
๒๙ ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล, กฎหมายภาษีอากร, หน้า ๖๓.