Page 202 - kpiebook62008
P. 202
๑๗๑
๓๕๓. แนวทางการเปลี่ยนแปลงระบบงบประมาณและข้อจำกัดของประเทศไทย ด้วยเหตุที่ระบบงบประมาณ
แบบสองขาสามารถสร้างความสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายของรัฐ ช่วยลดปัญหาการใช้จ่ายเงินภาษีอย่างไม่
เหมาะสม สอดคล้องกับระบบงบประมาณของสาธารณรัฐฝรั่งเศสและยุทธศาสตร์ชาติ ผู้วิจัยจึงเห็นควรให้ประเทศ
ไทยเปลี่ยนแปลงระบบงบประมาณแบบขาเดียวมาเป็นระบบงบประมาณแบบสองขา ในการเปลี่ยนแปลงระบบ
งบประมาณมาเป็นระบบงบประมาณแบบสองขา ผู้วิจัยเห็นว่าควรเริ่มต้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ โดยแก้ไขชื่อจาก “ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
งบประมาณ” เป็น “ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ” และเพิ่มเติมข้อความว่า “ต้องแสดง
งบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายประจำปี” เข้าไปในมาตรา ๑๔๒ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร
ไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยเห็นว่าการนำระบบงบประมาณสองขามาใช้ในประเทศไทยยังคงมี
ข้อจำกัดอยู่ดังต่อไปนี้
(๑) การนำระบบงบประมาณสองขามาใช้บังคับจำต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ
เนื่องจากระบบงบประมาณมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ รายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๑ พระราชบัญญัติวินัย
การเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.๒๕๖๑ สำหรับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๑ นั้นจำเป็นต้องบังคับให้
รัฐบาลจัดทำงบประมาณรายรับ พร้อมกับเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณรายรับประกอบด้วย ส่วน
พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.๒๕๖๑ จำเป็นต้องเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การรักษาวินัยการเงินการ
คลังในส่วนของการจัดทำงบประมาณรายรับด้วย นอกจากกฎหมายระดับพระราชบัญญัติแล้ว ยังจำเป็นต้องมีการ
แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายลำดับรอง ผู้วิจัยจึงเห็นว่าก่อนนำระบบงบประมาณสองขามาใช้บังคับจำเป็นต้อง
สำรวจกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อให้การแก้ไขกฎหมายเป็นไปอย่างครบถ้วน
(๒) การนำระบบงบประมาณสองขามาใช้บังคับจำต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่หน่วยงานของรัฐและ
เจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากประเทศไทยใช้ระบบงบประมาณขาเดียวมาเป็นระยะเวลานาน หน่วยงานของรัฐและ
เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงปฏิบัติตามแนวทางของระบบงบประมาณขาเดียวเรื่อยมา การจะนำระบบงบประมาณสองขา
มาใช้บังคับให้เกิดประสิทธิภาพจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่
เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณ การอนุมัติงบประมาณ ตลอดจนการตรวจสอบงบประมาณ เมื่อ
พิจารณาแล้วจะพบว่ามีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมาก ผู้วิจัยจึงเห็นว่าการนำระบบงบประมาณสองขา
มาใช้บังคับจำเป็นต้องอาศัยเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมกับการ
จัดทำแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นประกอบการใช้บังคับระบบงบประมาณสองขาด้วย