Page 199 - kpiebook62008
P. 199
๑๖๘
วินัยการเงินการคลังเป็นหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง แต่การรักษาวินัยการเงินการคลังให้ประสบ
ผลสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีกจำเป็นต้องพิจารณาถึงระบบงบประมาณของประเทศ ระบบงบประมาณของประเทศพึงมีการ
พิจารณาทั้งด้านรายรับและรายจ่ายไปพร้อมกันเพื่อเพิ่มอำนาจในการควบคุมการจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายเงิน
ภาษีโดยที่รัฐสภาสามารถทบทวนแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายรับและรายจ่ายให้สอดคล้องกันและสอดคล้องกับ
สถานการณ์ปัจจุบัน กล่าวคือ ในกรณีที่รายรับในปีนั้นมีน้อย รัฐสภาก็พึงปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกหรือตัด
การให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมออกเพื่อให้งบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายเกิดความสมดุล ทั้งนี้
การเปลี่ยนระบบงบประมาณแบบสองขาเคยได้รับการพิจารณาให้ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดไว้ว่า
“ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีและร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมต้องแสดงงบประมาณรายรับ
และงบประมาณรายจ่ายประจำปี” อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมิได้รับความเห็นชอบสภาปฏิรูป
แห่งชาติ ในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงระบบงบประมาณของประเทศไทย ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
ระบบงบประมาณของสาธารณรัฐฝรั่งเศส แนวทางเกี่ยวกับระบบงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมทั้งข้อดี
และข้อเสียของระบบงบประมาณสองขา เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการนำระบบ
งบประมาณสองขามาบังคับใช้ในประเทศไทย
๓๔๙. ระบบงบประมาณสองขาของสาธารณรัฐฝรั่งเศส รัฐบัญญัติงบประมาณประจำปีของสาธารณรัฐฝรั่งเศส
นั้นเป็นต้นแบบของระบบงบประมาณแบบสองขาเนื่องจากรัฐบัญญัติดังกล่าวมีการระบุทั้งงบประมาณรายรับและ
งบประมาณรายจ่าย กล่าวคือ รัฐบัญญัติดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติของรัฐสภาโดยจะระบุภาษีที่จัดเก็บ
ในรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงแผนโครงการที่จะนำภาษีที่จัดเก็บไปใช้จ่าย ซึ่งประชาชนอาจเข้าถึงข้อมูลรวมถึง
รายงานประกอบพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีดังกล่าวได้ ดังนั้นรัฐสภาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสจึงสามารถ
แก้ไขกฎหมายภาษีผ่านการพิจารณารัฐบัญญัติงบประมาณประจำปีได้
๓๕๐. ระบบงบประมาณสองขาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติเป็นกรอบในการดำเนินงาน
ต่าง ๆ ของรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงระบบงบประมาณจึงต้องพิจารณายุทธศาสตร์ชาติด้วย เมื่อพิจารณาแล้วจะ
พบว่า ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐได้กำหนดให้กำหนดเพิ่ม
รายได้คู่กับแผนงบประมาณให้เกิดสมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่าย การพิจารณาอนุมัติงบประมาณของประเทศ