Page 186 - kpiebook62008
P. 186
๑๕๕
๓๒๗. แนวทางการจัดทำระบบการตอบหนังสือข้อหารือที่เหมาะสม การตอบหนังสือข้อหารือยังขาดการ
รองรับของกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันกรมสรรพากร และไม่มีการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาหนังสือข้อการรือ
การจะทำให้การตอบหนังสือข้อหารือสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษีได้ จำเป็นต้องมี
การตรากฎหมายขึ้นมารองรับระบบการตอบหนังสือข้อหารือโดยการเพิ่มเติมหมวดในประมวลรัษฎากร
กรมสรรพากรต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานภายในกรมสรรพากรหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งให้มีหน้าที่
ตอบหนังสือข้อหารือเป็นการเฉพาะ ทั้งยังต้องมีการกำหนดกระบวนการตอบหนังสือข้อหารืออย่างชัดเจนตั้งแต่
เริ่มการทำหนังสือข้อหารือเข้ามายังกรมสรรพากรจนกระทั่งถึงผลของการตอบข้อหารือว่ามีผลผูกพัน
กรมสรรพากรหากได้กระทำตามคำแนะนำของกรมสรรพากรแล้ว อย่างไรก็ตาม การหนังสือตอบข้อหารือที่จะมีผล
ผูกพันกรมสรรพากรได้พึงจัดทำเป็นหนังสือและมีการชี้แจงข้อเท็จจริงที่แน่นอนเพียงพอซึ่งสอดคล้องกับ
กระบวนการตอบหนังสือข้อหารือของสาธารณรัฐฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการคุ้มครอง
สิทธิของผู้เสียภาษีมากยิ่งขึ้น ระบบการตอบหนังสือข้อหารือพึงมีการกำหนดระยะเวลาการตอบข้อหารือที่แน่นอน
โดยอาจมีการกำหนดระยะเวลาขยายไว้เป็นข้อยกเว้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอน
ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการตอบหนังสือข้อหารืออาจตราเป็นกฎหมายลำดับรองได้
๕.๓.๒ การกำหนดสิทธิของผู้เสียภาษีไว้เป็นการเฉพาะในกฎหมายภาษี
กระบวนการจัดเก็บภาษีเป็นอำนาจมีผลกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้เสียภาษีโดยตรง ดังนั้น การใช้
อำนาจดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ เจ้าพนักงานประเมินต้องไม่มีส่วนได้
เสียกับผู้เสียภาษี ต้องเปิดโอกาสให้โต้แย้งคัดค้านเจ้าพนักงานประเมินระหว่างการประเมินภาษี ต้องให้ผู้เสียภาษี
สามารถเข้าถึงข้อมูลที่นำมาใช้ในการประเมินได้ และเป็นโอกาสให้มีการโต้แย้งคัดค้าน อย่างไรก็ตาม การคุ้มครอง
สิทธิของผู้เสียภาษีในระหว่างกระบวนการจัดเก็บภาษียังคงมีความซับซ้อน และไม่มีความชัดเจน (๕.๓.๒.๑) จึง
ต้องพิจารณาหาแนวทางการกำหนดสิทธิของผู้เสียภาษีที่เหมาะสม (๕.๓.๒.๒)