Page 180 - kpiebook62008
P. 180
๑๔๙
๕.๒.๒ แนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์การตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของผู้เสียภาษี
๓๑๑. เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มิได้กำหนดหลักเกณฑ์การจำกัดสิทธิ
ของผู้เสียภาษีไว้เป็นการเฉพาะซึ่งก่อให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ (๕.๒.๑) ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ผู้วิจัยเห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของผู้เสียภาษีไว้เป็นเฉพาะโดยแยกการ
พิจารณาออกเป็น ๒ ประเด็นอันได้แก่ ลำดับชั้นของกฎหมายในการบัญญัติหลักเกณฑ์ (๕.๒.๒.๑) และเนื้อหา
สาระของหลักเกณฑ์ (๕.๒.๒.๒)
๕.๒.๒.๑ ลำดับชั้นของกฎหมายในการบัญญัติหลักเกณฑ์
๓๑๒. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มิได้กำหนดหลักเกณฑ์การตรากฎหมายเพื่อจำกัด
สิทธิของผู้เสียภาษีไว้ แต่ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่รักษาวินัยการเงินการคลังโดยมีการกำหนดรายละเอียดไว้ใน
พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวกำหนดให้การจัดเก็บภาษี
อากรจะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และการยกเว้นหรือการลดภาษีอากรใดจะกระทำได้ก็แต่โดย
อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ให้อำนาจจัดเก็บภาษีอากรนั้น โดยที่ต้องพิจารณาถึงความเป็นธรรม ความเสมอภาค
และการไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งการพัฒนาและสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
หลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงอยู่ในฐานะเป็นรายละเอียดของหน้าที่ของรัฐ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวนับว่าเป็น
พัฒนาการการรับรองหลักความชอบด้วยกฎหมายภาษีและการรักษากรอบวินัยการเงินการคลังที่ดี
๓๑๓. แนวทางของสาธารณรัฐฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การตรากฎหมายเพื่อจำกัด
สิทธิของผู้เสียภาษีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสแล้วจะพบว่ามีการบัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ในมาตรา ๓๔ แห่งรัฐธรรมนูญ
ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสซึ่งว่าการกำหนดฐานภาษี อัตราภาษี และวิธีการจัดเก็บภาษีต้องตราเป็นรัฐบัญญัติซึ่งนับว่า
เป็นการรับรองหลักความชอบด้วยกฎหมายภาษีไว้ การกำหนดในลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นหลักประกันแก่ผู้เสีย
ภาษีว่าการจะจำกัดสิทธิของตนได้นั้นต้องผ่านความยินยอมของผู้เสียภาษี ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญ
เกี่ยวกับอำนาจในการตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นไปหลักที่ว่า หลักไม่มีภาษี หากไม่มีผู้แทน (No taxation
without representation) ดังปรากฏให้เห็นในคำประกาศอิสรภาพ (The Declaration of Independence)
และรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา จึงนับได้ว่าทั้งสองประเทศได้กำหนดหลักเกณฑ์การตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิ
ของผู้เสียภาษีไว้อย่างสอดคล้องกันโดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและให้เป็นอำนาจของรัฐสภา