Page 34 - 22353_Fulltext
P. 34
จัดการศึกษาเพื่อสร้างสำนึกพลเมืองอย่างยิ่งเพื่อสร้างให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิทธิเสรีภาพร้อมกับทราบ
บทบาทหน้าที่ของตน เรียนรู้ที่จะเคารพกฎหมายและเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นไปพร้อมกับปกป้องสิทธิ
เสรีภาพของตนอย่างเหมาะสม เรียนรู้ที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวมและคำนึงถึงสาธารณะประโยชน์ เป็นต้น
William A. Galston (2004 , pp. 263 - 266) กล่าวถึงวิกฤติการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาว
อเมริกันในวัยหนุ่มสาวไว้เช่นกันว่าคนหนุ่มสาวในปัจจุบันมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยลง โดยเขาให้เหตุผลถึง
ความผูกพันของพลเมืองที่ลดลงว่าเป็นเพราะพวกเขามีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของรัฐบาลทางนโยบายไม่มาก
พอ ทำให้ไม่เข้าใจถึงความสำคัญในการกำหนดระดับสิทธิของรัฐบาล อีกทั้งยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท
ของรัฐและของตนน้อยเกินไป เมื่อประกอบกับการที่คนกลุ่มนี้มีความมั่นใจในการพัฒนาเฉพาะตัวมากขึ้นจึงทำ
ให้พวกเขามั่นใจในกลุ่มน้อยลง ไม่เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาธารณะซึ่ง
พวกเขามองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวและควบคุมได้ยาก ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ในสังคมก็ล้มเหลวในการถ่ายทอด
บรรทัดฐานของพลเมืองที่ใช้การได้ (workable civic norms) ให้แก่เยาวชนได้สามารถนำไปพัฒนาความรู้
นิสัยและทักษะของพลเมือง (civic knowledge) ซึ่งเรื่องนี้ Galston มองว่ามีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อการ
ส่งเสริมการศึกษาสำหรับพลเมือง แม้จะมีหลายรัฐจะรับรองการศึกษาของพลเมืองในนโยบายของตน แต่มี
เพียงครึ่งเดียวที่ระบุค่านิยมสำคัญของพลเมืองในหลักสูตรและน้อยกว่านั้นอีกที่พยายามอย่างจริงจังในการจัด
หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับพลเมืองของตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ท้าทาย นั่นหมายถึงการส่งเสริมการศึกษา
สำหรับพลเมืองของสหรัฐอเมริกาควรดำเนินการอย่างจริงจังมากกว่านี้ เพื่อสนับสนุนต่อค่านิยมประชาธิปไตย
การมีส่วนร่วมและสร้างให้พลเมืองตระหนักถึงบทบาทของตนที่พึงมีต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองผู้ที่มีความตระหนักรู้ในสิทธิเสรีภาพ
และมีส่วนร่วมจัดการปัญหาของสังคมได้อย่างเหมาะสมนั้น นักวิชาการด้านการศึกษาต่างเห็นพ้องกันว่า
การศึกษาในห้องเรียนนั้นไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมการศึกษาสำหรับพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นเป็นกำลัง
ให้แก่บ้านเมืองได้ หลายฝ่ายจึงเสนอให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติด้วย ทว่าในความเป็นจริง
สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงมือปฏิบัติก็มีความสำคัญต่อการลงมือปฏิบัติได้ตามทฤษฎี อีกทั้งยังส่งผลต่อ
ความต่อเนื่องของการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคม ดังนั้น การส่งเสริมการศึกษาสำหรับพลเมืองที่มี
ประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องดำเนินการไปพร้อมกันกับการสร้างสภาพแวดล้อม (environment) ที่เหมาะสมใน
การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจในทางปฏิบัติพร้อมกับลดความสับสนของผู้เรียนไปพร้อมกัน
ดังที่ Lev Vygotsky (2007) เสนอไว้ว่าการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมความเป็น
จริงนั้นจะส่งเสริมต่อการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น แต่หากสิ่งที่เรียนรู้ในชั้นเรียนแตกต่างออกไปจากสภาพแวดล้อม
ความเป็นจริง ผู้เรียนจะไม่สามารถเรียนรู้อย่างถูกต้องได้ เนื่องจากผู้เรียนเกิดความสับสนระหว่างสิ่งที่มีการ
เรียนการสอนในชั้นเรียนกับสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อความไม่ไว้วางใจในการแสดงออก
ยังส่งผลต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองให้เกิดสภาวะถดถอยอีกด้วย
33