Page 33 - 22353_Fulltext
P. 33
7.การสะท้อนความคิดภายหลังจากเข้าร่วมเวที
การทำโครงการหรือกิจกรรมใดๆเมื่อแล้วเสร็จการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนสิ่งที่
ได้จากการทำกิจกรรมร่วมกันนับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยให้ทราบว่าผู้ที่เข้าร่วม
โครงการ/กิจกรรมมีความรู้สึกหรือได้รับความรู้หรือประโยชน์อันใดจากการเข้าร่วมกิจกรรมบ้าง ซึ่งจะเป็น
ประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงการ/กิจกรรม อีกส่วนหนึ่งก็ยังช่วยให้เกิดการเปิดใจและขยายมุมมองของ
ผู้เข้าร่วมออกไปจากสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้และได้รับมาจากเวทีสานเสวนาไปพร้อมกันด้วย การจัดให้มีการ
สะท้อนความคิดเห็นในช่วงท้ายภายหลังจากสิ้นสุดเวทีจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงพัฒนาโครงการ
ต่อการเรียนรู้ตนเองเข้าใจผู้อื่น และต่อการขยายโอกาสในการเปิดเวทีประชาเสวนาหาทางออกในประเด็นอื่นๆ
ต่อไปในอนาคต
อนึ่ง นอกเหนือจาก 7 ขั้นตอนของการสานเสวนาแล้ว เรื่องของสถานที่จัดการประชาเสวนาและ
รูปแบบการจัดโต๊ะก็นับเป็นสิ่งสำคัญและไม่อาจละเลยไปได้ การจัดโต๊ะควรมีลักษณะของการนั่งล้อมวงเป็น
วงกลม เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้อำนวยการประชุมเสวนากับผู้เข้าร่วมและระหว่างผู้เข้าร่วมเสวนา
ด้วยกัน และเพื่อสร้างความรู้สึกเท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่เข้าร่วมประชุมเพราะการจัดโต๊ะรูปแบบนี้จะไม่ปรากฎ
ว่าใครคือหัวโต๊ะหรือหางโต๊ะ ทุกคนจะเท่าเทียมกันหมด จึงสามารถสร้างบรรยากาศของความรู้สึกที่เท่าเทียม
กัน ลดการเผชิญหน้าและลดการแบ่งฝ่ายระหว่างผู้เข้าร่วมเสวนาได้
แนวคิดเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองและการเสริมสร้างพลังพลเมือง
การศึกษาสำหรับพลเมืองนับเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจศึกษาพัฒนา เนื่องจากการ
มีส่วนร่วมที่มีคุณภาพนั้นจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นจากการมีความรู้ความเข้าใจความสำคัญและความสัมพันธ์
ระหว่างการมีส่วนร่วมกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วน
ร่วมของพลเมืองพร้อมๆกับสร้างความเข้าใจถึงรูปแบบการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม ที่ยังธำรงไว้ซึ่งหลักการเรื่อง
สิทธิเสรีภาพของตนและเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นภายใต้กรอบของกฎหมาย
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล (2555. หน้า 473-496) นักวิชาการผู้สนใจศึกษาการส่งเสริมการศึกษาเพื่อ
สร้างความเป็นพลเมืองชี้ให้เห็นว่าความเป็นพลเมืองไม่ใช่กฎธรรมชาติแต่ต้องสร้างผ่านการส่งเสริมการศึกษา
(civic education) การเรียนรู้และฝึกฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้แก่
นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์และปัญหาต่างๆของชุมชนรอบตัว ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและเสนอแนะ
แนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง กล่าวคือกระบวนการสร้างสำนึกพลเมืองและส่งเสริมการมีส่วนร่วม
ทางการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นการเรียนรู้ร่วมกับการลงมือปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของ
ทิพย์พาพร ตันติสุนทร (2557) ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา ที่ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาคนในสังคมให้มีวิถี
ประชาธิปไตย มีคุณลักษณะของพลเมืองที่เป็นพละกำลังให้แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริงนั้น มีความสัมพันธ์กับการ
32