Page 290 - kpi21190
P. 290
290
กล่าวได้ว่า ความเท่าเทียมทางการเมืองเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย บางคนบอกว่า
ความไม่เท่าเทียมทางการเมืองเป็นเงาของประชาธิปไตย (Political Inequality is the Shadow
of Democracy) (Joshua K. Dubrow, 2016) ซึ่งก็หมายความว่า ประชาธิปไตยและ
ความไม่เท่าเทียมทางการเมืองเป็นสิ่งที่คู่กัน ทั้งๆ ที่ในระบอบประชาธิปไตยได้ให้ความสำคัญ
กับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มักกล่าวกันว่า ความเหลื่อมล้ำ
ทางการเมืองวัดให้เป็นรูปธรรมได้ยากกว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทาง
สังคมแต่เราก็สามารถสังเกตเห็นได้ไม่ยากเกินไปนัก
ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยถูกหยิบยกมากล่าวถึงตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2514) ได้เริ่มระบุถึงปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่
เป็นธรรมและปัญหาความยากจนที่เริ่มปรากฏให้เห็นหลังสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1
(พ.ศ. 2504 - 2509) และนับแต่นั้นมาก็มีการกล่าวถึงปัญหาการกระจายรายได้และปัญหา
ความยากจนติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
กล่าวได้ว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยและมีแนวโน้ม
รุนแรงมากขึ้นจนปรากฏข่าวว่า ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้าน
ความมั่งคั่ง (Wealth inequality) มากที่สุดในโลก (ไทยรัฐออนไลน์, 2561) โดยมีการอ้าง
ข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 ระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับสามรองจาก
รัสเซียและอินเดีย แต่ในปี 2018 ประเทศไทยกลับขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยในปี 2016
คนไทยที่มีความมั่งคั่งที่สุดร้อยละ 1 มีทรัพย์สินรวมกันถึงร้อยละ 58 ของทรัพย์สินรวมทั้ง
ประเทศ มาในปี 2018 คนที่รวยที่สุดร้อยละ 1 นี้มีทรัพย์สินเพิ่มหรือรวยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ
66.9 ในขณะที่คนที่มั่งคั่งที่สุดร้อยละ 1 ของรัสเซียมีทรัพย์สินลดลงจากร้อยละ 78 เป็น
ร้อยละ 57.1 เป็นที่สองรองจากประเทศไทย (Credit Suisse Research Institute, 2018)
หากข้อมูลดังกล่าวเป็นความจริงแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่ผ่านมาทุกชุดล้มเหลว
ในการแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในทางตรงกันข้าม กลับทำให้
ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเลวร้ายลง จึงเป็นประเด็นที่ควรพิจารณาว่า เกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้าง
ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มได้มากขนาดนี้ แม้ว่า
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะออกมาแถลงว่า รายงาน
ดังกล่าวของ Global Wealth Report 2018 จะมีความคลาดเคลื่อนก็ตาม (สำนักงาน
การประชุมกลุ่มย่อยที่ 5 คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2019) แต่คนไทยจำนวนมากก็สัมผัสกับ
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในสังคมไทยมานานแล้ว
จากการศึกษาของมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษาเรื่อง 8 ข้อเท็จจริงความเหลื่อมล้ำ
ในไทย มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ (มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา, 2562)