Page 235 - kpi21190
P. 235
235
เนื่องจากความเหลื่อมล้ำส่งผลทำให้อุปสงค์ของผู้บริโภคส่วนมากในตลาดลดลง ระบบ
เศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำมักจะเชื่อมโยงกับปัญหาคอร์รัปชั่น
ระบบการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมักจะส่งผลให้เกิด
ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ซึ่งในท้ายที่สุดจะส่งผลต่อเสถียรภาพของประชาธิปไตย (Stiglitz,
2013) หรืองานของนักสังคมวิทยา ดังเช่น โกรัน เธอบอร์น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า นอกจาก
ความเหลื่อมล้ำจะเป็นการละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังก่อ
ให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมหาศาล สิ่งนี้สะท้อนผ่านผลการศึกษาที่ชี้ว่าคนชายขอบกลุ่มต่างๆ
ทั้งคนจน คนที่ได้รับการศึกษาน้อย คนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยมักจะมีอายุเฉลี่ยที่น้อยกว่า
อัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดที่สูงกว่ากลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยเหตุนี้เธอบอร์น
จึงตั้งชื่อหนังสือว่า “ทุ่งสังหารของความเหลื่อมล้ำ” (The Killing Fields of Inequality)
(Therborn, 2013)
ความน่าสนใจในงานของเธอบอร์น (Therborn) นอกจากจะชี้ให้เห็นถึงผลที่ตามมาจาก
ความเหลื่อมล้ำ ยังชี้ให้เห็นถึง “กลไกการทำงานของความเหลื่อมล้ำ” ในสี่ลักษณะ ได้แก่
ประการแรก การสร้างระยะห่าง (distanciation) กลไกดังกล่าวเกี่ยวข้องกับระบบหรือ
โครงสร้างที่คัดสรร “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดนั่นคือ
บทบาทของครอบครัวที่เกื้อหนุนบุตรหลานผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งการเลือกโรงเรียน การเสริม
สร้างทักษะที่สำคัญ และการปูพื้นฐานให้กับเครือข่ายทางสังคม จากพื้นฐานดังกล่าวจะกำหนด
เส้นทางชีวิตหลังจบการศึกษา ทั้งเส้นทางของการทำงาน รวมไปถึงสถานภาพทางสังคม กลไก
ประการที่สองคือ การขูดรีด (exploitation) ที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่าง
สองฝ่าย โดยฝ่ายที่เหนือกว่าจะแสวงหาประโยชน์จากฝ่ายที่ด้อยกว่า ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของ
การขูดรีดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างนายกับทาสในยุคศักดินา แม้ว่าในปัจจุบันนี้ลักษณะ
ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะหมดไป แต่ในยุคทุนนิยมมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการขูดรีดในลักษณะใหม่
ทั้งการใช้แรงงานเกินเวลา โดยให้ค่าจ้างที่ต่ำ และสภาพการทำงานที่เลวร้าย (sweatshop) หรือ
กระทั่งการจ้างงานที่ฝ่ายแรงงานไม่สามารถมีอำนาจต่อรองกับฝ่ายนายจ้างได้ กลไกประการนี้
ถูกมองว่าเป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม
ทางสังคมอย่างชัดเจนที่สุด กลไกประการที่สามคือ การกีดกัน (exclusion) ซึ่งหมายถึง
การขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึง เข้าร่วม และได้รับประโยชน์บางประการหากไม่ได้เป็นสมาชิก
ในกลุ่ม ในทางเศรษฐศาสตร์ การกีดกันจะหมายถึงการผูกขาดในการทำธุรกิจ ซึ่งการผูกขาด
นั้นอาจเกิดมาจากการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent-seeking) หรืออีกนัยหนึ่งคือ
การคอร์รัปชั่นนั่นเอง กลไกประการสุดท้ายคือ การสร้างลำดับชั้นสูงต่ำ (hierarchization)
ในสังคม ในอดีตกลไกนี้มักจะเกี่ยวพันกับสถานภาพทางชนชั้น ดังเช่น ระบบวรรณะในอินเดีย
เป็นต้น ในปัจจุบันสิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุดคือ ระบบราชการแบบพีระมิด ที่จำแนกสูงต่ำ
ตามลำดับขั้นการบังคับบัญชา กลไกดังกล่าวจะส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมในสังคมเมื่อมี การประชุมกลุ่มย่อยที่ 3
การผูกขาดอภิสิทธิ์บางประการสำหรับบุคคลในลำดับชั้นสูง (Therborn, 2013)