Page 351 - kpi16531
P. 351
33 นวัตกรรมการพัฒนารายได้
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
. .2 ข้อจำกัดด้านสมรรถนะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่
การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นเป็นแนวคิดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยยังไม่รู้จัก
หรือคุ้นเคยมากนัก เห็นได้จากผลตอบกลับจากการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนารายได้ขององค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยในหัวข้อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยวิทยาลัยพัฒนาการปกครอง
ท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า (สรุปไว้ในหัวข้อ 3.2) พบว่า ถึงแม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ
ไทยโดยส่วนใหญ่มีการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่โดยใช้กลยุทธ์ด้านการพัฒนาบริการ
สาธารณะพื้นฐาน (Public improvement) เป็นหลัก เช่น การวางระบบประปาและไฟฟ้า การสร้าง
(หรือซ่อมแซม)ถนน/สะพาน และการสร้างอาคาร ซึ่งการใช้กลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ
ในการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น แต่ประเด็นหรือคำถามสำคัญที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจยัง
มิได้พิจารณาหรือตอบคำถามให้ชัดเจน คือ กิจกรรมการพัฒนาท้องถิ่นที่ได้ดำเนินการไปก่อให้
เกิดการเพิ่มมูลค่าหรือผลทวีคูณทางเศรษฐกิจ (Multiplier effects) หรือไม่ และอย่างไร ทั้งนี้
คำถามดังกล่าวถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการระบุว่า กิจกรรมที่ดำเนินการเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ
ที่แท้จริงซึ่งสอดคล้องกับหลักการหรือแนวคิด ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามหลักการ
พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่ได้ให้คำนิยามและคำอธิบายไว้ในข้างต้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การวาง
ระบบประปาและไฟฟ้าหรือการสร้างอาคารกระตุ้นหรือดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่
ดังกล่าวหรือส่งเสริมให้เกิดโอกาสหรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจในบริเวณดังกล่าวมากขึ้นหรือไม่
หรือการวางระบบสาธารณูปโภคและการสร้างอาคารเป็นเพียงการให้บริการสาธารณะและเป็นเพียง
หนึ่งในกิจการพาณิชย์ที่ทำให้ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บค่าบริการและค่าเช่าเป็นรายได้เพิ่มเติมเท่านั้น
ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยยังคงต้องทำความเข้าใจในเรื่องของตัวคูณหรือผลทวีคูณ
ให้ชัดเจน เพื่อให้กิจกรรมการพัฒนาท้องถิ่นต่างๆ ที่ดำเนินการเป็นกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในพื้นที่ที่แท้จริงและช่วยก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ท้องถิ่น
นอกจากนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยหลายๆ แห่งยังขาดศักยภาพที่เพียงพอ
ในการริเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพด้านการเงิน การบริหารจัดการ
การเงิน การบริหารโครงการหรือแผนงาน ความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนผู้นำและ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองขาดความกระตือรือร้น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือไม่มี
ความตั้งใจหรือต้องการที่ริเริ่มโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของตน เห็นได้จากผลสำรวจข้อมูล
การพัฒนารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยในหัวข้อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดย
วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน
286 แห่ง จาก 753 แห่ง (หรือร้อยละ 38) ไม่สนใจดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ มีเพียง
198 แห่ง (หรือร้อยละ 26.3) เท่านั้นที่สนใจดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ดังแสดงตาม
แผนภาพที่ 19