Page 347 - kpi16531
P. 347
330 นวัตกรรมการพัฒนารายได้
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต นอกจากนั้นยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่เทศบาลนครภูเก็ตจากการขาย
กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการดำเนินการกำจัดขยะของ
เทศบาลนครภูเก็ตจะประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากค่าดำเนินการกำจัดขยะและบำรุงรักษาเตา
เผาขยะมีมูลค่าสูงกว่าค่าธรรมเนียมในการกำจัดขยะที่จัดเก็บจากครัวเรือนและประชาชน (เทศบาล
นครภูเก็ต, การสื่อสารระหว่างบุคคล, 26 มิถุนายน 2557) อย่างไรก็ตาม จังหวัดภูเก็ตถือเป็น
แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากของประเทศไทย มีทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่า
ทางเศรษฐกิจให้ประเทศมากมาย ดังนั้นบริการกำจัดขยะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสนับสนุนความ
ร่วมมือระหว่างภาครัฐด้วยกันเอง (ส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น) และระหว่างภาครัฐและเอกชน
แล้ว ยังถือเป็นบริการสาธารณะพื้นฐานที่ช่วยให้จังหวัดภูเก็ตยังคงความสะอาดและสามารถดึงดูดใจ
นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมเยือนหรือลงทุนอันก่อให้เกิดผลดีต่อการขยายตัวหรือ
สร้างผลทวีคูณทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นและช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนต่อไป
.3. กลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นใน
ประเทศไทย
นอกเหนือจากกลยุทธ์หลักทั้ง 3 ประการขั้นต้น การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นขององค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นไทยได้ใช้รูปแบบหรือวิธีการอื่นๆ ที่น่าสนใจและก่อให้เกิดผลสำเร็จในการกระตุ้น
และสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ การพัฒนาจุดเด่นและสร้างมูลค่าเพิ่ม
จากเอกลักษณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ต้องมีการวางแผนที่ดีและมีการ
ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (มิใช่แค่การจัดงานเทศกาลหรืองานเฉลิมฉลองเป็นครั้งคราว) ตัวอย่าง
การพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบดังกล่าว เช่น
< เมืองสร้างสรรค์ด้านนก (Creative Bird City) ของเทศบาลนครยะลา เทศบาลนครยะลา
ได้นำแนวคิดเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนา
เศรษฐกิจในพื้นที่ โดยมีการนำวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ยะลาและจังหวัดใกล้เคียง
ในเรื่องการเลี้ยงนกมาเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาดังกล่าว การจัดมหกรรมนกเขาชวา
เสียงอาเซียน (Asian Barred Ground Doves Competition) และการแข่งขันประกวดนกกรง
หัวจุก ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กล่าวคือ การแข่งขัน
ดังกล่าวทำให้ธุรกิจฟาร์มนกขยายตัว สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ปีละหลายสิบล้าน
บาท และทำให้ธุรกิจกลุ่มที่ผลิตกรงนก วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงนกและอาหารนกขยายตัว
และเป็นอาชีพเสริมของประชาชนบางกลุ่ม ตลอดจนสร้างรายได้ให้ธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงแรม
การขนส่ง ร้านค้า ร้านอาหาร และร้าน OTOP ที่เกี่ยวกับนก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการ
แข่งขัน (อรทัย ก๊กผล, 2557) ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสร้างตัวคูณหรือมูลค่าทวีคูณทาง
เศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นอย่างมหาศาล
< ตลาดน้ำอัมพวา ของเทศบาลตำบลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ตลาดน้ำอัมพวาเป็น
ตลาดน้ำยามเย็นที่เกิดจากการนำแนวคิดเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเน้นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่น
ซึ่งเป็นบ้านทรงไทยและเรือนแพ และวิถีชีวิตชาวบ้านที่เดินทาง ติดต่อและค้าขายกัน