Page 30 - kpi16531
P. 30
นวัตกรรมการพัฒนารายได้ 13
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ประการที่สอง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นในฐานะผู้จัดให้บริการและประชาชนในฐานะผู้รับ/ใช้บริการ ประชาชนมักพิจารณาถึง
ความคุ้มค่าของบริการที่ได้รับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาการจัดให้
บริการเพื่อตอบสนองต่อความพึงพอใจของประชาชนให้ได้มากที่สุด กล่าวได้ว่า ค่าธรรมเนียมการใช้
บริการสาธารณะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพและปริมาณของการจัดให้บริการขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น ค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในทางเศรษฐศาสตร์
ที่ส่งเสริมประสิทธิภาพในการจัดให้บริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ประการที่สาม การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจ
(Autonomy) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตัดสินใจว่า จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการ
สาธารณะใดบ้าง ด้วยวิธีการหรือรูปแบบใด จากกลุ่มเป้าหมายใด และมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม
ในอัตราใด
ประการที่สี่ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะสะท้อนให้เห็นถึงความ
รับผิดชอบ (Accountability) ในการดูแลประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ ในการดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
องค์ประกอบสำคัญที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรพิจารณา ได้แก่ 1) ประเภทบริการสาธารณะ
2) อัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะ และ 3) โครงสร้างค่าธรรมเนียมการใช้บริการ
สาธารณะ การศึกษาวิจัยนี้จึงมีข้อเสนอในเชิงหลักการสำหรับองค์ประกอบดังกล่าว ได้แก่
1) ประเภทบริการสาธารณะ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งควรเริ่มต้นด้วยการพิจารณาว่า จะจัดให้บริการ
สาธารณะประเภทใดแก่ประชาชนในพื้นที่ของตน และมีโอกาสหรือช่องทางในการพัฒนารายได้จาก
การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะประเภทนั้นหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การจัดให้บริการ
สาธารณะประเภทนั้นที่ดียิ่งขึ้น
1.1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรทำการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากบริการสาธารณะ
ทุกประเภทที่มีอำนาจในการจัดเก็บอยู่แล้วตามกฎหมาย
1.2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจกระทำได้อยู่แล้วตามกฎหมายจัดตั้ง ทั้งนี้ การตัดสินใจว่า
จะทำการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใด ควรคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะในระดับท้องถิ่น และความเสมอภาค
ในการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
2) อัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการสาธารณะ
2.1) การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ควรคำนึงถึงความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการ
สาธารณะของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งความจำเป็นขั้นพื้นฐานในการใช้บริการสาธารณะ
นั้นเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชน ด้วยหลักการดังกล่าว การศึกษาวิจัยนี้จึงเสนอให้ องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมออกเป็น 3 รูปแบบ และพิจารณาว่า บริการสาธารณะประเภท
ใดเหมาะที่จะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในรูปแบบใด กล่าวคือ