Page 294 - kpi12821
P. 294
แนวทางปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง
วิญญูชนทุกท่านย่อมวินิจฉัยได้ 70
นอกจากนี้ หากลองเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญของต่างประเทศที่มี
บทบัญญัติรองรับการยุบพรรคการเมืองเป็นการเฉพาะ ก็อาจช่วยให้อนุมานได้ว่า การ
เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของไทยน่าจะเป็นมาตรการที่รุนแรง และที่สำคัญ ขัดต่อหลัก
นิติธรรมและหลักนิติรัฐ ด้วยเหตุที่เป็นการวินิจฉัยผลทางกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงข้อ
เท็จจริงเฉพาะราย ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญตุรกีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “สมาชิก
พรรคการเมืองและผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองซึ่งการกระทำหรือคำพูดของบุคคลนั้นเป็น
สาเหตุให้มีการยุบพรรคการเมืองดังกล่าวอย่างถาวร ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ก่อตั้ง
71
สมาชิก กรรมการ หรือผู้บริหารในพรรคการเมืองใดๆ เป็นระยะเวลา 5 ปี...” กรณี
เช่นนี้ เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญจะจำกัดสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในพรรคการเมือง
เฉพาะบุคคลผู้เป็นสาเหตุให้พรรคการเมืองต้องถูกยุบไปเท่านั้น หาได้จำกัดตัดสิทธิ
กรรมการบริหารพรรคเป็นการทั่วไปแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งยังได้จำกัดเฉพาะเสรีภาพใน
การเข้าร่วมพรรคการเมือง หาได้ขยายไปถึงขนาดการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังเช่นกรณี
ของไทยไม่
3.4 การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริง
เป็นการเฉพาะราย ไม่สอดคล้องกับหลักความเสมอภาค
หลักความเสมอภาคเป็นหลักการพื้นฐานอีกประการหนึ่งของหลักนิติธรรม
และหลักนิติรัฐ ซึ่งเปรียบได้กับเหรียญสองด้าน ด้านแรก ถือเป็นหลักว่า พฤติการณ์
72
หรือข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญเช่นเดียวกัน จะต้องได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่
เท่าเทียมกัน กับอีกด้านหนึ่ง พฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันในสาระสำคัญ
70 โปรดวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกรณีศึกษาเรื่องกฎหมายแพ่งกำหนดค่าเสียหายเพื่อละเมิดขั้นต่ำไว้อย่างสูง
ลิบลิวและเรื่องกฎหมายอาญากำหนดโทษไว้เพียงสถานเดียว ใน ธานินทร์กรัยวิเชียร, หลักนิติธรรม, (กรุงเทพฯ:
ชวนพิมพ์, 2552), น. 32 – 35.
71 Constitution of the Republic of Turkey, November 7, 1982 (As amended on October
17, 2001), art. 69 para. 8.
“The members, including the founders of a political party whose acts or statements
have caused the party to be dissolved permanently cannot be founders, members, directors or
supervisors in any other party for a period of five years...”
72 ความเห็นของ A. V. Dicey อ้างถึงใน ธานินทร์ กรัยวิเชียร, เรื่องเดิม, น. 4; และโปรดดู วรเจตน์
ภาคีรัตน์, “หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม,” เรื่องเดิม; และชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, เรื่องเดิม, น. 28 – 29.