Page 22 - kpi10607
P. 22

ฝ่าวิกฤต สร้างโอกาส บทบาทท้องถิ่นไทย




                                                                                                                  21


                       2. สังคมญี่ปุ่น : ความสัมพันธ์และการควบคุมทางสังคม

                             ความสัมพันธ์อย่างกลมเกลียวในการอยู่ร่วมกันของคนญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึง
                       ปัจจุบัน การศึกษาระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมในลักษณะแนว  สถาบันพระปกเกล้า

                       ดิ่งที่อยู่บนพื้นฐานของการจัดลำดับชั้น โดยสังคมเป็นผู้กำหนดสิทธิ ความรับผิดชอบ และพฤติกรรมของคนใน
                       แต่ละชนชั้น รูปแบบพฤติกรรมที่กำหนดขึ้นเป็นไปตามสถานภาพ ตำแหน่ง และฐานะของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งคน
                       ญี่ปุ่นทุกคนต้องปฏิบัติตาม สภาพสังคมของคนญี่ปุ่นในชนบทที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีผล

                       ทำให้สมาชิกต้องอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเหนียวแน่น เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องน้ำ การช่วยเหลือเกื้อกูล
                       กันนี้ได้พัฒนาให้สมาชิกมีความผูกพันกันมากขึ้นจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา ทั้งยัง
                       สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้น ในภาคธุรกิจก็ให้ความสำคัญ

                       กับกลุ่มเช่นกัน เช่น ความร่วมมือกันในหมู่นักธุรกิจ การเลียนแบบความสำเร็จของกลุ่ม การทำตามกลุ่มใหญ่
                       เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดความกลมเกลียวและช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมไว้ได้

                             คนญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มเล็กไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่ ทั้งนี้ยังมี

                       การกำหนดพันธะหน้าที่เพื่อให้คนในกลุ่มอยู่ร่วมกันอย่างสงบราบรื่น พันธะหน้าที่ดังกล่าวคนญี่ปุ่นเรียกว่า
                       “กิริ” ซึ่งกิริเป็นแนวคิดเกี่ยวกับพันธะทางสังคมที่มีมาตั้งแต่สมัยศักดินา ผู้ที่มีกิริจะปฏิบัติกับคนเฉพาะกลุ่มที่มี
                       ความสัมพันธ์กันทางสังคมในลักษณะการตอบแทน ถือเป็นการปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานต่อคนเฉพาะกลุ่มมาก

                       กว่าเป็นบรรทัดฐานสากล กิริจึงเป็นเสมือนแรงผลักทางศีลธรรมที่ทำให้คนรู้สึกถึงพันธะหน้าที่ และเป็นความ
                       สัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการพึ่งพาในลักษณะหนี้บุญคุณที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างกันได้
                       กิริยังถูกนำมาใช้ในการรักษาสถาบันทางสังคมให้คงอยู่ต่อไปด้วยความราบรื่น และใช้ในความสัมพันธ์ทาง

                       สังคมที่เท่าเทียมกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์แบบลำดับชั้น นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับ
                       ความรู้สึกที่มีต่อผู้อื่นที่มีความสัมพันธ์หรือไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันก็ได้ เช่น ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ
                       ความสงสาร ความเศร้า ฯลฯ ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้เรียกว่า “นินโจ”


                               กิริและนินโจจึงเป็นเหมือนสิ่งที่เชื่อมโยงตนเองให้เข้ากับคนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งคนญี่ปุ่นปฏิบัติต่อ
                       กันมานานจนกลายเป็นกฎที่ไม่ต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เห็นได้จาก
                       ว่าบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่เขียนสัญญากับพนักงาน เพราะถือว่าคำพูดและการกระทำของพนักงานถูกคุม

                       ด้วยกิริและนินโจมากกว่ากฎที่บริษัทตั้งขึ้น ฉะนั้น กิริและนินโจจึงเป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ทำให้คนญี่ปุ่นทำ
                       หน้าที่ได้อย่างถูกต้องและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการอาศัยอยู่ร่วมกัน

                               นอกจากกิริและนินโจแล้ว คนญี่ปุ่นยังถูกควบคุมด้วย“อน” ซึ่งเป็นระบบบุญคุณที่ติดตัวอย่าง

                       หลีกเลี่ยงไม่ได้ อนเป็นค่านิยมที่ทำให้คนญี่ปุ่นสามารถรักษาความเป็นระเบียบของสังคม บุญคุณที่กล่าวถึงนี้มี
                       ตั้งแต่บุญคุณที่มีต่อองค์จักรพรรดิ พ่อแม่ และผู้มีพระคุณที่ช่วยเหลือในชีวิต ซึ่งเป็นหนี้ที่มีภาระผูกพันเมื่อได้
                       รับแล้วต้องตอบแทน การไม่ตอบแทนบุญคุณในสังคมญี่ปุ่นจึงเปรียบเสมือนการทำผิดบรรทัดฐานของสังคม

                       แต่อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของบุญคุณได้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสภาพของสังคม การยอมรับหนี้
                       บุญคุณจึงขึ้นอยู่กับโอกาส สถานการณ์ และตัวบุคคล ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เกิดการ
                       เปลี่ยนแปลงอย่างมากโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อโครงสร้างสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยม

                       และความเข้มข้นในเรื่องกิริ นินโจ และอนที่มีบทบาทลดลงไปด้วย
   17   18   19   20   21   22   23   24   25   26   27