Page 159 - kpiebook63019
P. 159
154
ในการพัฒนาและแก้ไขกฎหมาย ความโปร่งใสและปลอดจากอิทธิพลของนักธุรกิจและกลุ่มผลประโยชน์
ของธุรกิจ และการดึงดูดเยาวชนให้สนใจงานของรัฐสภา โดยผลการประเมินสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ด้านความโปร่งใสและการเข้าถึงได้ ในภาพรวมพบว่ามีการดำเนินงานอยู่ในระดับปานกลาง
(ค่าเฉลี่ย = 2.51, S.D. = 0.93) ได้คะแนนเป็นลำดับที่ห้า โดยเมื่อพิจารณาตามองค์ประกอบย่อย พบว่า
ด้านการเปิดเผยข้อมูลผลการประชุมของรัฐสภาและคณะกรรมาธิการต่อสื่อและสาธารณะ มีคะแนนเฉลี่ย
สูงที่สุด โดยมีการดำเนินงานอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย = 3.16, S.D. = 1.05) ทั้งนี้ ผู้ประชุมกลุ่มและ
ผู้ทรงคุณวุฒิมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการได้มีการเปิดเผย
ผลการประชุมหรือผลการดำเนินงานต่อสื่อ สามารถค้นหาและติดตามผลการประชุมของสภานิติบัญญัติ
แห่งชาติและคณะกรรมาธิการจากสื่อของรัฐสภาได้ แต่สื่อหลักมักไม่เผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ต่อประชาชน
โดยผลการประชุมของคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่เป็นเพียงรายงานสรุปผลการประชุมเท่านั้น รองลงมา คือ
ด้านการมีเสรีภาพของสื่อในการเข้าถึงและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐสภาและสมาชิก
รัฐสภา มีการดำเนินงานอยู่ในระดับสูง (ค่าเฉลี่ย = 3.08, S.D. = 1.17) โดยทั้งสองกลุ่มเห็นว่าสื่อยังมีเสรีภาพ
จำกัดในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
และขาดความเป็นอิสระในการนำเสนอ โดยสื่อเองยังต้องนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง เนื่องจาก
สถานการณ์ทางการเมืองเป็นช่วงสถานการณ์พิเศษหรือไม่ปกติ ด้านการมีช่องทาง ความถี่ และ
การครอบคลุมของการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐสภาและกรรมาธิการ มีการดำเนินงาน
อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.85, S.D. = 0.95) ความเห็นจากการประชุมกลุ่มมองว่าช่องทางและ
การครอบคลุมในการเผยแพร่การดำเนินงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการมีความเหมาะสมดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่องทางสื่อของรัฐสภา อาทิ เว็บไซต์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์รัฐสภาทั้งผ่านทีวีและ
ผ่านอินเทอร์เน็ต เฟสบุ๊ค ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่โดยรอบ ทั้งนี้ จุดด้อยยังมีอยู่ คือ การสืบค้น ค้นหาข้อมูล
ในเว็บไซต์รัฐสภายังมีความยุ่งยาก การจัดหมวดหมู่ในเว็บไซต์ซับซ้อน อีกทั้งวิธีการสื่อสารของสภานิติบัญญัติ
มีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว ซึ่งในประเด็นนี้ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นตรงกันว่าควรต้องได้รับการปรับปรุง และ
ต้องมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในงานของรัฐสภามากยิ่งขึ้น
ในด้านรูปแบบ วิธีการ และภาษาที่ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลของรัฐสภาและ
กรรมาธิการ มีการดำเนินงานอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.76, S.D. = 1.00) โดยผู้ทรงคุณวุฒิและ
การประชุมกลุ่มต่างเห็นว่าภาษาที่ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการ
เป็นภาษาราชการ เหมาะสมสำหรับนักวิชาการ ข้าราชการ หรือกลุ่มผู้สนใจงานของรัฐสภา แต่สำหรับ
ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจได้ยาก นอกจากนี้ เนื้อหาและการนำเสนอยังขาดความเกี่ยวโยงกับประชาชนทั้งใน
ระดับพื้นที่และระดับประเทศ และรูปแบบการนำเสนอยังไม่อำนวยความสะดวกและเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มคน
ที่มีความบกพร่อง เช่น กลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น และกลุ่มคนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
เป็นต้น ส่วนด้านความโปร่งใสและปลอดจากอิทธิพลของนักธุรกิจและกลุ่มผลประโยชน์ของธุรกิจ
มีการดำเนินงานอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.45, S.D. = 1.31)เช่นกัน ความเห็นจากการประชุมกลุ่ม
ให้ข้อสังเกตว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติอาจไม่ปลอดจากอิทธิพลของนักธุรกิจและกลุ่มผลประโยชน์ของธุรกิจ
การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐสภาไทย (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) โดยใช้เกณฑ์และตัวชี้วัดของ Inter-Parliamentary Union (IPU)