Page 163 - kpiebook63019
P. 163
158
ในภาพรวมด้านการมีส่วนร่วมในนโยบายต่างประเทศจากการสัมภาษณ์เห็นว่า เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารหรือ
รัฐบาลโดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม มีการพิจารณาบางเรื่องในขั้นกรรมาธิการ
แต่ความร่วมมือกับรัฐสภานานาชาติเป็นไปอย่างเข้มแข็ง ส่วนความเห็นจากการประชุมกลุ่มทั้งหมดไม่ทราบ
การดำเนินงานในเรื่องนี้ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ด้านบทบาทของรัฐสภาในการติดตามและตรวจสอบ
นโยบายและการปฏิบัติตามพันธะหรือข้อตกลงด้านความช่วยเหลือประเทศ มีการดำเนินงานอยู่ในระดับ
ปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.84, S.D. = 1.00) โดยที่ประชุมกลุ่มต้องการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มารับฟัง
ความคิดเห็นของประชาชนในพันธกรณีเหล่านั้น ควรมีการปรับปรุงข้อตกลงที่ล้าสมัยให้ทันสมัย เข้าถึง
สถานการณ์มากขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ทำหน้าที่นี้ได้ดีพอสมควร ในหัวข้อการมีส่วนร่วมในการสร้างพันธะด้านกฎหมายและการเงินในเวทีระหว่าง
ประเทศ มีการดำเนินงานอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.77, S.D. = 1.13) ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่ม
ส่วนใหญ่เห็นบทบาทนี้น้อย แต่สิ่งที่ต้องการคือ ต้องการให้ สนช. มองประเด็นผลกระทบกับประชาชนใน
พันธกรณีทั้งหลายที่ได้ตกลงไปด้วยส่วนผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่นี้ได้ดีพอสมควร
เช่นกัน ด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านนโยบายระหว่างประเทศ มีการดำเนินงานอยู่ใน
ระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.67, S.D. = 1.06) ผู้ทรงคุณวุฒิมองเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลโดยมี
กระทรวงการต่างประเทศเป็นหลักเช่นกัน ส่วนความเห็นจากการประชุมกลุ่มมองว่าไม่ค่อยเห็นบทบาทของ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติในการมีส่วนร่วมในนโยบายต่างประเทศ บทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมการแก้ไข
ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด โดยมีการดำเนินงานอยู่ในระดับ
ปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.49, S.D. = 1.06) โดยทั้งสองกลุ่มต่างเห็นตรงกันว่าบทบาทของสภานิติบัญญัติ
แห่งชาติในด้านนี้มีน้อย
5.2 ข้อเสนอแนะ
การจัดทำข้อเสนอแนะในส่วนนี้ คณะผู้วิจัยมิได้มีความมุ่งหมายที่จะนำเสนอสำหรับอนาคตที่ว่าประเทศไทย
จะมี “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เกิดขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยตระหนักดีว่าการเกิดขึ้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เป็นผลมาจากสภาวะที่ไม่ปกติของการจัดระบบการปกครองของประเทศ โดยข้อเสนอแนะทั้งหลาย
ที่เกิดขึ้น มุ่งหวังให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งและสรรหาในภาวะปกติ จะได้นำข้อเด่นและข้อควรระวัง
ของการดำเนินงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปปรับปรุงให้การทำงานของรัฐสภามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากทำการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด สามารถประมวลข้อเสนอแนะที่ได้จากการประเมินผลการดำเนินงาน
ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ดังนี้
5.2.1 ข้อเสนอแนะด้านการเป็นตัวแทนประชาชน
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
- ควรมีการกระจายคนที่ทำหน้าที่ให้เหมาะสมกับวงงานด้านต่าง ๆ
การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐสภาไทย (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) โดยใช้เกณฑ์และตัวชี้วัดของ Inter-Parliamentary Union (IPU)