Page 32 - kpiebook62011
P. 32
28
(2) รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาหรือพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แล้วแต่กรณี
รัฐมนตรีเป็นองค์กรในระดับที่สองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกลั่นกรองการกำหนดเงิน
ค่าทดแทนของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น โดยหากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่พอใจ
จำนวนเงินที่คณะกรรมการกำหนดก็ชอบที่จะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา
หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ แล้วแต่กรณี ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
เป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว
(มาตรา 25) ในการพิจารณาอุทธรณ์นั้น กฎหมายได้บัญญัติให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น
คณะหนึ่ง ในทางปฏิบัติจะเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์” เป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์และ
เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีโดยที่รัฐมนตรีจะต้องมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่
ได้รับคำอุทธรณ์ องค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทาง
กฎหมายและผู้มีความรู้ความสามารถในการตีราคาอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าห้าคน
ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับ Lands Tribunal ของประเทศอังกฤษมาก จึงเป็นองค์ประกอบ
ที่มีความเหมาะสมแล้ว
(3) ศาล
องค์กรสุดท้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับการกำหนดเงินค่าทดแทน คือ ศาล ซึ่งปัจจุบันคือศาลปกครอง
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่
ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือ ในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัย
อุทธรณ์ให้เสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปี
นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ข้อโต้แย้งทั้งหลายที่เกี่ยวกับจำนวนเงินค่าทดแทนจะเป็นอันยุติโดยคำพิพากษา
ของศาล ซึ่งทำให้ศาลต้องเข้ามาเป็นผู้ทำหน้าที่กำหนดเงินค่าทดแทนด้วยอีกองค์กรหนึ่ง
ในการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีหรือฟ้องคดีต่อศาลนั้น ไม่เป็นเหตุให้การครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์
การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง การขนย้ายทรัพย์สิน หรือการดำเนินการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย
จากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกิจการที่จะต้องมีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องสะดุดหยุดลง (มาตรา 26) ทั้งนี้
ก็เพื่อแก้ไขปัญหามิให้เกิดความชะงักงันในการดำเนินการเวนคืนนั่นเอง อันเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครอง
พื้นฐานคือหลักการจัดทำบริการสาธารณะต้องต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530