Page 134 - kpiebook62008
P. 134
๑๐๓
คืน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีคำสั่งคืนเงินให้แก่ผู้ยื่นคำร้อง โดยต้องแจ้งคำสั่งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบ ภายในสิบห้าวันนับ
แต่วันที่ได้มีคำสั่ง ในกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเมินภาษีผิดพลาด ให้ผู้บริหาร
ท้องถิ่นสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงิน ที่ได้รับคืนโดยไม่คิด
ทบต้น นับแต่วันที่ยื่นคำร้องขอรับคืนเงินจนถึงวันที่คืนเงิน แต่ต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ได้รับคืน ถ้าผู้ยื่นคำร้องไม่มา
รับเงินคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ให้เงินนั้นตกเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา ๕๔ แห่ง
พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๒)
๒๐๐. การขอคืนภาษีอากรตามกฎหมายต่าง ๆ ดังตัวอย่างที่กล่าวมา ต้องทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ
ระยะเวลาตามที่กฎหมายนั้น ๆ บัญญัติไว้เสียก่อน จึงจะดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลได้
๓.๖ การควบคุมตรวจสอบการจัดเก็บภาษีและการใช้เงินภาษี
๒๐๑. ตามกฎหมายการคลัง ภาษีเป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นรายได้ที่สำคัญที่สุดของ
รัฐ ในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียภาษีจึงจำเป็นต้องพิจารณาตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บภาษี (๓.๖.๑) และ
กระบวนการใช้จ่ายเงินภาษีหรือที่เรียกว่า “กระบวนการทางงบประมาณ” (๓.๖.๒) กระบวนการทางงบประมาณ
ของประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอนอันได้แก่ การจัดทำงบประมาณ การอนุมัติงบประมาณ การ
๑๕๒
บริหารงบประมาณ และการตรวจสอบงบประมาณ ทั้งนี้ การตรวจสอบการใช้เงินภาษีในบางกรณีมิได้ผ่าน
กระบวนการงบประมาณของรัฐสภา แต่กระบวนการงบประมาณต่าง ๆ ผ่านสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(๓.๖.๓)
๓.๖.๑ การควบคุมตรวจสอบการจัดเก็บภาษี
๒๐๒. “การจัดเก็บภาษีจำเป็นต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจพระราชบัญญัติ” เป็นหลักการที่ได้รับการรับรองโดย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติ
วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ ดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อ (๓.๔.๒) รัฐสภาจึงเป็นองค์กรที่มีอำนาจ
ควบคุมตรวจสอบการตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษี ในการใช้บังคับกฎหมายรัฐบาลจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีเฉพาะ
๑๕๒ สุปรียา แก้วละเอียด, กฎหมายงบประมาณของประเทศไทย, หน้า ๒๓๙.