Page 225 - kpi17968
P. 225
214
ผู้ใดที่เห็นแก่สินบนรับสินบน ช่วยเดินเหินว่ากล่าวเพ็ดทูลแคะไค้
ให้ผู้นั้น ๆ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนั้น ถ้าได้เงินสินบนด้วยเหตุนั้น
ก็คือว่าผู้นั้นหากรุณาแก่มนุษย์มิได้ ชื่อว่าคิดเอาเลือดเนื้อของราษฎร
คนยากคนไร้ ที่อยู่บ้านห่างเมืองไกลมาขายให้อ้ายยักษ์ อ้ายผี เป็น ผีโหง
ผีห่า ผู้ที่หากินอย่างนี้จะได้บาปมากนักหนาทีเดียว ที่ว่าดังนี้ผู้ที่ซื่อๆ อยู่
ในสัตย์ในธรรมคงเห็นจริงด้วยหมด…” 15
ความในประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับนี้ชัดเจนและทันสมัยตลอดกาล คือผู้ที่ใช้
สินบนซื้อขายตำแหน่ง เมื่อได้ดำรงตำแหน่งนั้น ย่อมใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง
โดยทุจริตหรือโดยมิชอบเสมอ เพื่อให้ได้ทรัพย์สินมาเป็นการเอาทุนคืน พระบาท
สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ถ้อยคำตำหนิผู้ที่กระทำเช่นนี้รุนแรงมาก
ว่าเป็น “อ้ายยักษ์ อ้ายผี เป็น ผีโหง ผีห่า” เพราะได้คิดมาแต่ต้นว่าจะไปเป็น
เจ้าเมืองหรือที่ปัจจุบันเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอันเป็นหน้าที่ของผู้นำในการ
บำบัดทุกข์และบำรุงสุขของประชาชนในเมืองนั้นว่าต้องการตำแหน่งเพื่อ “จะไป
กินเลือดเนื้อมนุษย์ เถือเนื้อมนุษย์ หรือเอาเลือดมนุษย์ในเมืองนั้น”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามที่จะทดลองใช้วิธีการ
ใหม่ๆ ในการพิจารณาแต่งตั้งขุนนางตำแหน่งสำคัญในกระบวนการยุติธรรมสมัย
นั้น คือ พระมหาราชครูปโรหิตาจารย์ และพระมหาราชครูมหิธร ข้าราชการ
ผู้ใหญ่ระดับศักดินา 10,000 ในคณะลูกขุน ณ ศาลหลวง หากจะเปรียบเทียบให้
ใกล้เคียงกับปัจจุบันคือ ประมุขของศาลต่างๆ ด้วยการทรงเปิดโอกาสให้ผู้ที่
เกี่ยวข้องมีสิทธิเลือกผู้ที่เหมาะสมที่สุดให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นลูกขุน ณ ศาลหลวง
ตามที่ปรากฏใน ประกาศฉบับที่ 146 ประกาศให้เลือกพระราชครูลูกขุน
พระมหาราชครูปโรหิต พระมหาราชครูมหิธร (คัดจากหมายรับสั่ง เดือน 8 ปี
มะเมีย สัมฤทธิศก) มีความบางตอนว่า
15 รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง ประชุมประกาศ
รัชกาลที่ 4, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, น.348.
การประชุมกลุมยอยที่ 2