Page 314 - kpi12821
P. 314
แนวทางปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง
เสรีภาพ การเป็นปฏิปักษ์ต่ออัตลักษณ์ทางรัฐธรรมนูญ (Constitutional Identity) เช่น
หลักสาธารณรัฐ หลักรัฐที่เป็นกลางทางศาสนา และการที่พรรคการเมืองไม่ดำเนินการ
ในฐานะพรรคการเมืองอย่างแท้จริง เช่น ไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งเป็นเวลาหลายปี
อย่างไรก็ดี เหตุทั้งหมดนี้ถือเป็นข้อยกเว้นที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด และอยู่ภายใต้
กระบวนการที่เข้มงวดดังเช่นที่ได้อธิบายไปแล้วในบทก่อนๆ
แม้ว่าการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งจะเป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามครรลอง
วิถีทางประชาธิปไตย (Procedural Democratic Principles) และผู้วิจัยก็ตระหนักดี
ว่าการซื้อสิทธิขายเสียงและการทุจริตเลือกตั้งเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบการเมืองไทย
แต่ลำพังเพียงการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงในเขตท้องที่หนึ่งท้องที่ใดแล้วจะถึงขนาดถือว่า
เป็นล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยนั้น ดูจะเป็นขยายข้อยกเว้นให้รัฐ
สามารถดำเนินการยุบพรรคการเมืองได้โดยง่ายจนเกินไป ดังนั้น จึงสมควรที่จะ
ปรับปรุงเหตุยุบพรรคข้อนี้ใหม่ โดยมีข้อควรพิจารณาดังนี้
4.1.1 องค์ประกอบเรื่อง “การกระทำ”
องค์ประกอบเรื่อง “การกระทำ” อันนำมาซึ่งเหตุยุบพรรคการเมืองตาม
มาตรา 237 วรรคสองนั้น กำหนดไว้อย่างกว้างขวางมาก กล่าวคือ กระทำการ ก่อ หรือ
สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและอนุบัญญัติที่ออก
ตามความในกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและ
เที่ยงธรรม ปัญหาเบื้องต้นก็คือ กฎหมายเลือกตั้งนั้นมีข้อห้ามสำหรับผู้สมัครโดยตรง
กว่า 22 ข้อ โดยไม่นับรวมข้อห้ามอื่น ๆ ที่ผู้สมัครอาจร่วมกระทำความผิดได้ เช่น การ
พนันขันต่อ การทำลายบัตรเลือกตั้ง ในบรรดาข้อห้ามเหล่านั้น มี “คุณธรรมทาง
กฎหมาย” หรือคุณค่าที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองในระดับที่มากน้อยไม่เท่ากัน
136
มีพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำไม่เท่ากัน มีผลกระทบต่อรัฐและสังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมของของกระบวนการเลือกตั้งไม่เท่ากัน
ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- นายหนึ่งจัดให้ประชาชน 30 คน ย้ายเข้ามาในเขตเลือกตั้งของตน
- นายสองใช้จ่ายเงินในการเลือกตั้งเพื่อการหาเสียงโดยสุจริตแต่ใช้
ไปเกินกว่าวงเงินที่กฎหมายกำหนด
- นายสามติดป้ายโฆษณาหาเสียงนอกเขตพื้นที่ที่ กกต. กำหนด
- นายสี่จัดให้มีมหรสพขณะปราศรัยหาเสียง
136 ผู้สนใจเรื่องคุณธรรมทางกฎหมายโปรดดู คณิต ณ นคร, เรื่องเดิม, น. 129 – 135.