Page 262 - kpi12821
P. 262
แนวทางปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง
ประการแรก แม้การกำหนดให้พรรคการเมืองต้องประชุมอย่างน้อยปีละ
หนึ่งครั้งหรือต้องดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จะเป็นเป้าประสงค์ทางนิติบัญญัติที่ชอบ
ด้วยรัฐธรรมนูญ (Legitimate Legislative Purpose) ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาผล
กระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวคือ การสิ้นสภาพความเป็น
พรรคการเมืองไป เห็นได้ว่า เป็นมาตรการรุนแรงเกินสมควร เพราะยังมีมาตรการอื่นๆ
ที่กระทบเสรีภาพน้อยกว่า แต่ก็อาจทำให้บรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน อาทิ
ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเพราะถือว่าไม่ทำหน้าที่
ตามกฎหมาย อันเป็นหน้าที่สำคัญซึ่งสมาชิกพรรคการเมืองให้ความไว้วางใจมอบหมาย
ให้เป็นผู้ดำเนินการแทน เช่นนี้ จะไม่กระทบต่อเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองของ
สมาชิกพรรคคนอื่นๆ ที่มิใช่กรรมการบริหารพรรค
อย่างไรก็ดี หากเวลาล่วงพ้นไปพอสมควรแล้ว สมาชิกพรรคคนอื่นๆ เหล่า
นั้นก็ไม่สนใจนำพาจัดการประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เช่นนี้
กรณีก็อาจพิจารณาได้ว่า เจตจำนงในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองดังกล่าวได้สลาย
ไปแล้ว จึงสมควรจะถือเป็นเหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคการเมือง
ประการที่สอง เมื่อพิเคราะห์หลักกฎหมายทั่วไปของไทยที่ว่า การรวมกลุ่ม
0
ที่เป็นนิติบุคคลจะสิ้นสภาพไป หากมิได้ดำเนินกิจกรรมใดๆ ติดต่อกันเป็นเวลาตั้งแต่
สองปีขึ้นไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลรองรับกรอบระยะเวลาสองปีดังกล่าว
คือการเปิดโอกาสให้สมาชิกคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คณะผู้บริหารมีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไข
เยียวยาความบกพร่องจากการที่ผู้บริหารไม่นำพาหน้าที่จัดประชุมใหญ่และจัดกิจกรรม
ต่างๆ ตามขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล โดยการเรียกประชุมใหญ่เสียเองหรือ
ดำเนินการผ่านนายทะเบียนตามกฎหมายนั้นๆ
และเมื่อพิจารณาว่า พรรคการเมืองก็เป็นการรวมกลุ่มของบุคคลธรรมดาที่
จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกัน แม้ไม่อาจสรุปได้ว่า หลักกฎหมายทั่วไปนี้มีค่าบังคับ
ระดับรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่การบัญญัติกฎหมายพรรคการเมืองในลักษณะที่ไม่
สอดคล้องกับหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอ ก็อาจ
ถือว่าเป็นกรณีที่บัญญัติเกินความจำเป็นได้
อย่างไรก็ดี อาจมีข้อโต้แย้งว่า พรรคการเมืองเป็นการรวมกลุ่มที่มีลักษณะ
พิเศษเฉพาะแตกต่างไปจากการรวมกลุ่มในลักษณะอื่นๆ คือเป็นกลไกสำคัญในการ
ปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงไม่สมควรนำหลักกฎหมายทั่วไปดังกล่าวมาใช้เป็นฐาน
ในการวินิจฉัย ยิ่งข้อกำหนดให้มีการเรียกประชุมใหญ่พรรคการเมืองด้วยแล้ว ยิ่งเป็น
เครื่องประกันความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง ก็ย่อมมีเหตุผลพิเศษที่จะ
กำหนดให้แตกต่างจากหลักกฎหมายทั่วไปและถือเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองได้