Page 261 - kpi12821
P. 261
ณรงค์เดช สรุโฆษิต
ผู้บริหารไม่นำพาต่อหน้าที่ในการจัดประชุมใหญ่ กล่าวคือ เมื่อพ้นกำหนดเวลา 1 ปีที่
สมควรจะมีการประชุมใหญ่ไประยะหนึ่งแล้ว ไม่มีการเรียกประชุมโดยวิสัยปกติของ
ผู้เป็นสมาชิกอันมีเจตจำนงแน่วแน่ตามวัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มที่เป็นนิติบุคคล
ดังกล่าว ก็ย่อมต้องติดตามสอบถามให้ผู้บริหารเรียกประชุมใหญ่ ซึ่งกฎหมายหรือ
ข้อบังคับของนิติบุคคลก็เปิดช่องไว้ หากสอบถามไปแล้ว ผู้บริหารกลับเพิกเฉยไม่เรียก
ประชุมใหญ่ เช่นนี้ สมาชิกรวมกันจำนวนหนึ่งหรือนายทะเบียนตามกฎหมายฉบับนั้นๆ
ก็อาจเรียกประชุมเองได้ 158
แต่ในทางตรงกันข้าม หากพ้น 1 ปีไปแล้ว นับแต่ปีที่ไม่มีการเรียกประชุม
แต่สมาชิกคนอื่นๆ ก็มิได้กระตือรือร้นกระทำการใดๆ เพื่อเยียวยาแก้ไขความบกพร่อง
ดังกล่าวไม่ว่าจะโดยตัวเองหรือร้องผ่านนายทะเบียน เช่นนี้ ย่อมถือได้ว่า สมาชิกเหล่านั้น
ไม่ประสงค์ที่จะรวมกลุ่มกันอีกต่อไป เสมือนหนึ่งเป็นการสมัครใจยุติการวมกลุ่มไปโดย
ปริยาย ดังนั้น กำหนดเวลา 2 ปีข้างต้น จึงเป็นกำหนดเวลาที่จำกัดเสรีภาพในการ
รวมกลุ่มอย่างพอสมควรแก่เหตุ และสอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของการรวม
กลุ่มและการสิ้นสุดลงของกลุ่มแล้ว
4.4 บทวิเคราะห์ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเหตุ
สิ้นสภาพเพราะไม่เรียกประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือ
ไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
เบื้องต้น คงต้องอธิบายว่า การกำหนดให้พรรคการเมืองต้องประชุมใหญ่
พรรคการเมืองเป็นประจำทุกปีก็ดี การกำหนดไว้ในบทนิยามพรรคการเมืองและมาตรา
อื่นๆ ให้พรรคการเมืองต้องดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก็ดี เป็นการแทรกแซงเสรีภาพ
ในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่กระทำโดยกฎหมาย
สอดคล้องกับลักษณะและหน้าที่โดยธรรมชาติของพรรคการเมือง และเจตนารมณ์
รัฐธรรมนูญในการรับรองสถานะพรรคการเมือง กระทำเท่าที่จำเป็น และมิได้กระทบ
กระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพดังกล่าว จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี การถือเอากรณีที่พรรคการเมืองไม่ดำเนินการดังกล่าวเป็นเหตุ
ทำให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไปนั้น กลับเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเพราะ
ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
158 โปรดดู ป.พ.พ., ม. 94; พรบ. สหกรณ์ พ.ศ. 2542, ม. 55; พรบ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518, ม. 58 (9)
และ ม. 90 (9); พรบ. สมาคมการค้า พ.ศ. 2509, ม.13 (5); พรบ. หอการค้า พ.ศ. 2509, ม. 13 (5).