Page 86 - kpiebook65057
P. 86
ระดับที่สอง คือ วัฒนธรรมทางการเมืองในความหมายแคบ คือ ในฐานะ
ที่เป็นระบบความคิด (Way of Thinking) หมายถึง ความคิดและความเข้าใจ (Perception
and Ideas) ว่าอะไรคือทรัพยากรที่ต้องจัดดสรรและแบ่งปันกัน จะต้องจัดสรรและ
แบ่งปันกับใคร และในเงื่อนไขใด จึงจะทำให้กลุ่มคนยอมรับได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ
ความคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวกับการจัดสรรแบ่งปัน
ทรัพยากร (รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข และ สุธี ประศาสน์เศรษฐ, 2557, หน้า 73-74)
เมื่อวัฒนธรรมครอบคลุมทั้งความคิดและการกระทำลักษณะของ
วัฒนธรรมทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะ
ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการต่อสู้ ช่วงชิง และรักษาไว้ซึ่งสถานภาพของ
บุคคลและสถาบันต่าง ๆ ดังนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองไทยในปัจจุบันที่สืบทอด
มาจากอดีต จึงมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2550, หน้า 6-22)
1. วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวบ้าน มีลักษณะเป็นความสัมพันธ์
แบบประชาธิปไตยของหมู่บ้าน วัฒนธรรมทางการเมืองของชุมชนหมู่บ้านมีมาก่อนสมัย
รัชกาลที่ 5 เนื่องจากการเมืองไทยสมัยโบราณ พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชอำนาจ
จำกัดในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรทุกส่วนของภาคสังคม ชาวบ้านจึงผูกพันกับ
มูลนายและผู้นำของหมู่บ้านมากกว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวบ้านจึงเกิดจาก
เงื่อนไขของวิถีชีวิตในหมู่บ้าน 3 ประการ คือ
1.1) ชาวบ้านดำรงชีวิตภายใต้เศรษฐกิจเลี้ยงตัวเองเป็นสำคัญ ดังนั้น
จึงมีการใช้ทรัพยากรอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ทำใหโอกาสที่จะเกิด
ความขัดแย้งจึงมีอยู่น้อย
1.2) ภายใต้เศรษฐกิจแบบเลี้ยงตัวเอง การเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิต
ที่พอเพียง ต้องใช้ทรัพยากรกลางของชุมชนที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์
ส่วนบุคคลแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวม เช่น เหมืองฝ่าย ด้วยวิถี
การผลิตจึงบังคับให้ชุมชนแต่ละแห่งต้องมีนโยบายบางอย่าง
เพื่อให้เกิดความร่วมมือซึ่งกันและกัน
31