Page 167 - kpiebook65057
P. 167
ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองภายนอกอีกปัจจัยหนึ่งอันเกิดจากอิทธิพลจาก
ตะวันตก คือ การขยายตัวของระบบการศึกษาทำให้เกิดการไหลบ่าของอุดมการณ์
ประชาธิปไตยในหมู่ปัญญาชน ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับเวียดนาม
รัฐบาลอนุญาตให้มีการตั้งฐานทัพอเมริกันในประเทศไทย มีการขยายตัวของธุรกิจ
ในภาคบริการอย่างบาร์ ไนท์คลับ อาบอบนวด โรงภาพยนตร์ ซูเปอร์มาเก็ต ฯลฯ
เติบโตขึ้นในกรุงเทพและตามเมืองใหญ่ที่เป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกัน นอกจากนี้
ยังมีการทำธุรกิจกับอเมริกาทั้งธุรกิจที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยา
เสพติด โสเภณี อาวุธ สินค้าหนีภาษี ฯลฯ จุดนี้จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็น
ผลมาจากการนำประเทศไปสู่ความทันสมัย (ลิขิต ธีรเวคิน, 2554) นอกจากนี้ยังมี
ปัจจัยเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ เนื่องจากในเวลานั้นเป็นยุค
ที่ระบบทุนนิยมโลกได้แผ่ขยายอิทธิพลไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา โดยจะเห็นได้จาก
การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ซึ่งธนาคารโลกได้เสนอแนะให้ประเทศ
กำลังพัฒนามีแนวทางในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อจุดมุ่งหมาย
ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาตลาดแรงงาน ในขณะเดียวกันเป็นช่วงที่
จอมพล สฤษดิ์ มีแนวคิดการทำให้ประเทศมีความทันสมัย จึงมีการส่งเสริมการลงทุน
การค้ากับต่างประเทศและการลดกฎเกณฑ์์ทางการค้า ลดภาษีนำเข้าสินค้า ฯลฯ
แต่ในเวลาต่อมาการพัฒนาเศรษกิจก็นำไปสู่ผลกระทบในด้านผูกขาดทางเศรษฐกิจ
โดยกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน
กระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้เศรษฐกิจ การค้าการลงทุนมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น
ประเทศต่างๆ ส่งเสริมการทูตเพื่อสร้างคู่ค้าสำคัญ อย่างไรก็ตามโลกาภิวัฒน์ก็ได้
ส่งผลกระทบต่อปัญหาภายใน เช่น ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจและ
การเมือง ปัญหาข้อกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มการเมืองและกลุ่มธุรกิจเอกชน
ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจของนิสิตนักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน ชาวนาและประชาชน
จำนวนมาก เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการก่อการจลาจลและการชุมนุมขับไล่รัฐบาล
เผด็จการในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
112