Page 63 - kpiebook62011
P. 63

59






                 2. กรณีประเทศโคลอมเบีย       10


                     ประเทศโคลอมเบียมีประสบการณ์มากในการใช้ภาษีประเมินพิเศษมีการพัฒนาอย่างมากในระดับ
               ท้องถิ่น โดยเฉพาะเมืองโบโกต้า (Bogota) และเมืองเมเดิลลิน (Medellin) ทั้งยังมีการพัฒนาในระดับชาติ และ
               ระดับที่เล็กลงมาคือระดับกระทรวงหรือกรม และท้องถิ่นต่างๆ


                     ระดับชั้นระบบภาษีประเมินพิเศษในประเทศโคลอมเบีย (Contribution of Valorization) มีการนำมา
               ใช้และก่อตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาจดูตัวอย่างจากที่เกิดขึ้นจริงในเมืองเมเดิลลิน มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

               รับผิดชอบงานสาธารณูปโภคในเมืองเมเดิลลิน ซึ่งได้รับเงินทุนจากภาษีประเมินพิเศษ เป็นหน่วยงานที่เรียกว่า
               “Department of Valorization” ส่วนเมืองโบโกต้า มีหน่วยงานทีเรียกว่า “Urban Development

               Institute” โดยหน่วยงานทั้งสองมีแผนกพิเศษที่มีความชำนาญงานในภาคปฏิบัติ ขณะที่ถ้าเป็นในระดับ
               ประเทศจะเป็นหน่วยงาน “National Betterment Directorate” ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ ซึ่งทำ
               หน้าที่สนับสนุนให้มีการคำนวณภาษีประเมินพิเศษตามหลักที่กฎหมายบัญญัติไว้ นอกจากนี้ ประเทศ

               โคลอมเบียได้จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือในการใช้เทคนิคกำหนดภาษีประเมินพิเศษ ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่
               ของรัฐหรือบริษัทเอกชน และยังมีการจัดตั้งตัวแทนของผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีเลือกเข้ามาให้ทำหน้าที่แทน

               ถือเป็นการมีส่วนร่วมทางหนึ่ง

                     ด้านการบัญญัติกฎหมาย ระบบภาษีประเมินพิเศษของประเทศโคลอมเบียเริ่มบัญญัติเป็น
               พระราชบัญญัติในปี ค.ศ. 1921 อย่างไรก็ตาม ได้มีการเริ่มใช้จริงที่เมืองโบโกต้าในปี ค.ศ.1933 และที่เมือง

               เมเดลลินในปี ค.ศ. 1948 ที่เมืองเมเดลลินนี้มีการใช้ภาษีประเมินพิเศษมาอย่างต่อเนื่อง มีเงินทุนสำหรับ
               สาธารณูปโภคผ่านระบบภาษีประเมินพิเศษอย่างสมบูรณ์ จนอาจพูดได้ว่า “เมืองเมเดิลลินทำให้เกิดระบบ

               ภาษีประเมินพิเศษ” แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาษีประเมินพิเศษในเมืองนี้ โดยพบความจริงว่า
               ภาษีประเมินพิเศษทำรายได้ใกล้เคียงหรือเกือบเท่ากับรายได้จากภาษีทรัพย์สินในเมืองโบโกต้า แม้ว่า
               ภาษีประเมินพิเศษจะทำรายได้สูง แต่เมื่อเทียบกับภาษีทรัพย์สินแล้วยังถือว่าอยู่ในอัตราที่ตํ่า


                     วิธีการกำหนดฐานภาษีของโคลอมเบียไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่ปกติพื้นที่ผลประโยชน์จะถูกกำหนด
               โดยคำนิยามตามกฎหมาย ยกตัวอย่างการสร้างถนน พื้นที่ผลประโยชน์มีนิยามกำหนด คือ พื้นที่สองข้างทาง

               ที่ขนานไปกับถนน ซึ่งเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ หากพื้นที่นั้นขาดตอน ไม่ต่อเนื่องเพราะมีแม่นํ้าขวางกั้นและ
               ไม่มีสะพาน หรือเป็นพื้นที่ที่เป็นหุบเขาขวางทาง โคลอมเบียจึงไม่มีกฎหมายมากำหนดนิยามพื้นที่ในทาง
               ภูมิประเทศ แต่ใช้วิธีกำหนดข้อจำกัดซึ่งบอกเป็นนัยถึงความหมายของพื้นที่ผลประโยชน์และทรัพย์สินที่อยู่ใน

               พื้นที่ผลประโยชน์ การปฏิบัติที่ยืดหยุ่นในเรื่องฐานภาษีของโคลอมเบียนี้ ถือเป็นจุดเด่นแตกต่างจากประเทศอื่น
               เรื่องพื้นที่ผลประโยชน์นี้บ่อยครั้งมีการกำหนดนิยามเป็นพิเศษ มีตัวอย่างในกรณีการสร้างระบบชลประทาน

               และกรณีเขตพื้นที่ติดต่อกันระหว่างพื้นที่ที่ได้รับผลประโยชน์กับพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งมีเขตพื้นที่
               ไม่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนเพื่อยุติเรื่องผลประโยชน์ที่ได้รับ


               
     10   Jorge Macon, Jose Merino Manon, Financing Urban and Rural Development through Betterment
               Levies The Latin American Experience. (New York: Praeger Publishers, 1977), pp. 46-62.








                                       พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
   58   59   60   61   62   63   64   65   66   67   68