Page 80 - kpiebook62008
P. 80
๔๙
ตรากฎหมายลำดับรองเพื่อยกเว้นหรือลดภาษีได้ แต่การตรากฎหมายลำดับรองดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยอำนาจ
ตามกฎหมายและต้องอยู่ภายใต้กรอบของอำนาจดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายบริหารแก้ไขเปลี่ยนแปลงหน้าที่และ
สิทธิของผู้เสียภาษีได้ตามอำเภอใจ การบัญญัติกฎหมายภาษีเพื่อให้อำนาจฝ่ายบริหารในการตรากฎหมายลำดับ
รองจำต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและกำหนดกรอบของการตรากฎหมายลำดับรองอย่างชัดเจน มิฉะนั้นฝ่ายบริหารจะ
กลายเป็นผู้มีอำนาจจำกัดสิทธิของผู้เสียภาษีแทนฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นการบั่นทอนการรักษาวินัยการเงินการคลัง
ตามหลักความชอบด้วยกฎหมายภาษี
๙๒. การสร้างระบบภาษีอย่างเป็นธรรมกับหน้าที่และสิทธิของผู้เสียภาษี นอกจากรัฐมีหน้าที่ในการรักษา
วินัยการเงินการคลังแล้ว รัฐยังมีหน้าที่สร้างระบบภาษีอย่างเป็นธรรมอีกด้วย การสร้างระบบภาษีอย่างเป็นธรรม
เป็นหน้าที่ของรัฐที่มีบทบาทต่อหน้าที่และสิทธิของผู้เสียภาษีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาวินัยการเงินการคลัง
กล่าวคือ การจำกัดสิทธิของผู้เสียภาษีโดยผ่านความยินยอมของฝ่ายนิติบัญญัติยังไม่เพียงพอ แต่การจำกัดสิทธิของ
ผู้เสียภาษีนั้นต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรมด้วย การจำกัดสิทธิของผู้เสียภาษีจึงต้องคำนึงถึงระบบการจัดเก็บภาษีที่
เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน ความสามารถในการเสียภาษีของผู้เสียภาษี ภาระภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องรับผิดชอบอยู่ ตลอดจน
ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังตัวอย่างเช่น การสร้างภาษีประเภทใหม่ขึ้นจำเป็นต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอว่า
เพราะเหตุใดผู้เสียภาษีตามภาษีประเภทใหม่นั้นจำต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้นกว่าผู้เสียภาษีอื่น นอกจากนี้ การให้
สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้เสียภาษีกลุ่มหนึ่งย่อมทำให้ผู้เสียภาษีกลุ่มนั้นมีภาระภาษีที่น้อยกว่าผู้เสียภาษีกลุ่มอื่น
ผู้เสียภาษีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจึงต้องมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่แตกต่างจากผู้เสียภาษีกลุ่มอื่นด้วย
ดังนั้น หากรัฐดำเนินการเกี่ยวกับภาษีโดยมิได้คำนึงถึงความเป็นธรรมแล้ว หน้าที่และสิทธิของผู้เสียภาษีย่อมขาด
ความสมดุล ผู้เสียภาษีที่ความสามารถในการเสียภาษีเหมือนกันอาจมีภาระภาษีแตกต่างกัน ในขณะที่ผู้เสียภาษีที่มี
ความสามารถในการเสียภาษีต่างกันอาจมีภาระภาษีเหมือนกัน
๓.๓ การกำหนดนโยบายภาษีภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
๙๓. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป
ประเทศ โดยที่กำหนดไว้ในตอนหนึ่งของอรัมภบทของรัฐธรรมนูญไว้ว่า “..ได้กำหนดกลไกอื่น ๆ ตามแนวทางที่
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาประเทศตาม
แนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติซึ่งผู้เข้ามาบริหารประเทศแต่ละคณะจะได้กำหนดนโยบายและ
วิธีดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ทั้งยังสร้างกลไกในการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญและจำเป็นอย่าง