Page 100 - b29420_Fulltext
P. 100
เรื่องที่แตกต่างออกไปจากตัวกรอบแนวคิดและยังไม่ครบถ้วนครอบคลุมทฤษฎีในทุกมิติ ขณะที่ในชุมชนเองก็ยังมี
ความเชื่อและวัฒนธรรมบางเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการ
ทั้งยังมีลักษณะอุปถัมภ์นิยมอย่างมาก สุดท้าย เป็นเรื่องของประโยชน์และกลุ่มผลประโยชน์ในชุมชนที่ส่งผลต่อการ
ตัดสินใจเลือกผู้แทนของคนในชุมชน
กล่าวโดยสรุปคือ มีเงื่อนไขปัจจัยอย่างน้อย 3 เรื่องที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินโครงการเลือกตั้ง
สมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ประกอบด้วย 1) เงื่อนไขด้านแกนนำและผู้เกี่ยวข้อง (actors) 2) เงื่อนไขด้าน
กระบวนการส่งเสริมการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง (process) และ 3) เงื่อนไขด้านวัฒนธรรมและ
ผลประโยชน์ (interest & culture) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) เงื่อนไขด้านแกนนำและผู้เกี่ยวข้อง (actors)
จากผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าปัจจัยด้านแกนนำ คือเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อเกิดและขับเคลื่อน
โครงการ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่ผ่านมาชี้ให้เห็นข้อจำกัดบางประการที่เกิดขึ้นกับแกนนำ ประการแรก เป็น
เรื่องความรู้ของแกนนำ แม้ผลการศึกษาจะชี้ให้เห็นว่าแกนนำระดับโครงการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการ
เลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ทว่าสิ่งที่พบกลับกลายเป็นการที่แกนนำเลือกนำเสนอโครงการโดยเน้น
ไปที่ความ ‘ขัดแย้ง’ ทำให้มุ่งเน้นไปที่การ ‘ไม่แข่งขัน’ ในฐานะกลไกที่จะลดความขัดแย้งในชุมชนลงไปได้ โดยที่
ไม่ได้เน้นการอธิบายทฤษฎีเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งกับประชาธิปไตยมากนัก ส่งผล
ให้ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆมีจุดเน้นที่ไม่ครอบคลุมเรื่องการเลือกตั้งสมานฉันท์และไม่ซื้อสิทธิขายเสียงที่ต้องการเน้น
เรื่องการ ‘แข่งขัน’ กันหาเสียงสร้างอย่างสร้างสรรค์ ทำประโยชน์แก่ชุมชน ไม่ได้ปฏิเสธการแข่งขัน และต้องการ
เสริมอำนาจการต่อรองให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผ่านกิจกรรมต่างๆให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้มีส่วนร่วมในช่วงของการ
เลือกตั้ง
การที่แกนนำเลือกหยิบยกเรื่องความขัดแย้งมากล่าวถึง จึงทำให้การอธิบายมุ่งนำเสนอไปที่การสร้างความ
สมานฉันท์ในชุมชน การไม่ซื้อสิทธิขายเสียง โดยมีการตีความให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน อาทิ ความ
สมานฉันท์ในชุมชนคือการพูดคุยกันก่อนที่ผู้นำชุมชนคนเก่าจะหมดวาระ เพื่อเชิญให้ผู้ที่คาดว่าจะลงสมัครรับ
เลือกตั้งในครั้งถัดไปมาพูดคุยกัน มีความพยายามสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้สมัคร โดยข้อตกลงแรกที่ชุมชน
ส่วนใหญ่สนับสนุนมากที่สุดเมื่อกล่าวถึง ‘ความสมานฉันท์’ ก็คือข้อเสนอเรื่องการไม่มีการแข่งขัน เพื่อลดการ
เผชิญหน้าและการลงทุนทางการเมืองที่มากจนเกินไป และข้อเสนอถัดไปหากไม่สามารถทำข้อตกลงร่วมกันในการ
ไม่แข่งขันกันได้ก็คือ การไม่ ‘แจกเงิน’ เพื่อแลกกับคะแนนเสียง โดยข้อเสนอสุดท้ายคือขอร้องไม่ให้ผู้สมัครทะเลาะ
กัน ขอให้ทุกฝ่ายพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อชุมชนต่อไปแม้ภายหลังการเลือกตั้ง
87