Page 103 - เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 23
P. 103
การประชุมวิชาการ
102 สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 23
ประชาธิปไตยในภูมิทัศน์ใหม่
สรุปได้ว่า การบริโภคในมิติทางสังคมวิทยาเป็นแนวคิดที่มีศักยภาพในการอธิบาย
ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง เนื่องจากพรรคการเมืองมีลักษณะบางประการ
ที่คล้ายคลึงกับสินค้า ดังจะเห็นได้จากการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อตอบสนองต่อ
ประชาชน เช่นเดียวกับสินค้าที่มุ่งตอบสนองต่อความพึงพอใจของผู้บริโภค แนวคิดที่บทความนี้
นำเสนอคือ การบริโภคเชิงสัญญะ ซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายว่า การบริโภคจะเกิดขึ้นจาก
ความต้องการที่จะบริโภคประโยชน์ใช้สอย มูลค่า คุณค่าเชิงสัญญะ และเกิดการแลกเปลี่ยน
เชิงสัญลักษณ์ เนื้อหาในส่วนถัดไปคือ การนำเสนอการวิเคราะห์พรรคการเมืองโดยใช้มุมมอง
จากแนวคิดการบริโภคเชิงสัญญะ
การปรับตัวของพรรคการเมืองกับการตอบสนองต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในระบอบประชาธิปไตย
ระบอบประชาธิปไตยของไทยเริ่มมีการก่อตั้งขึ้นอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2475 และผ่าน
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ประชาธิปไตยในประเทศไทย
ค่อนข้างมีรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างจากหลายประเทศ เช่น อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น
ประเทศไทยมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน คือ
ฉบับปี พ.ศ. 2560 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นจากการเล็งเห็นถึงความไม่เหมาะสมของ
รัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่ผ่านมา ซึ่งมีการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศใช้ใหม่หลายครั้ง
แต่ก็มิได้ทำให้การปกครองเป็นไปโดยราบรื่นเรียบร้อย จนในบางครั้งเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ
ที่หาทางออกไม่ได้ (ราชกิจจานุเบกษา, 2560)
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ให้ความหมาย
แก่พรรคการเมืองไว้ว่า “คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง โดยได้จดทะเบียน
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้” (สถาบันพระปกเกล้า, 2564) พรรคการเมือง
จึงเป็นการรวมตัวกันของมนุษย์ที่มีความคล้ายคลึงกันทั้งในด้านความคิดเห็นทางการเมือง
และอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อดำเนินกิจกรรมหรือแสดงออกทางการเมืองร่วมกัน (civic
activism) (Rye, 2014)
กฎหมายพรรคการเมืองของประเทศไทยกำหนดไว้ว่า หากพรรคการเมืองใดไม่ส่งสมาชิก
ลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งติดต่อกัน หรือไม่ส่งลงสมัครเป็นระยะเวลา 8 ปีติดต่อกัน
ก็ให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพลง (สถาบันพระปกเกล้า, 2564) ดังนั้น การที่พรรคการเมือง
จะมี ส.ส. ได้นั้น พรรคการเมืองก็ต้องกำหนดนโยบายของพรรค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้
การประชุมกลุ่มย่อยที่ 1 สมาชิกพรรคผู้ลงสมัครได้รับการเลือกตั้ง การวิเคราะห์พรรคการเมืองโดยใช้แนวคิดการบริโภค
เชิงสัญญะในครั้งนี้จึงมุ่งเน้นในการอธิบายภาพรวมของนโยบายพรรคการเมืองที่ตอบสนองต่อ
ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง