Page 229 - kpi16531
P. 229

212      นวัตกรรมการพัฒนารายได้
                ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


                         จากนิยามข้างต้นคณะผู้วิจัยสรุปได้ว่ากิจการพาณิชย์ คือกิจการที่องค์กรปกครอง
               ส่วนท้องถิ่นจัดตั้งเพื่อดำเนินงานบริการสาธารณะสำหรับหารายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

               โดยกิจการพาณิชย์สามารถจัดบริการสาธารณะได้โดยไม่จำกัดประเภทของบริการและดำเนินงาน
               แข่งขันกับเอกชนได้ แต่การแสวงหาผลกำไรของกิจการพาณิชย์ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะที่ให้
               กับชุมชนท้องถิ่น (Community Benefit) ซึ่งรูปแบบของกิจการพาณิชย์มักทำใน 3 รูปแบบคือ


                         1)  การดำเนินงานด้วยตนเองในฐานะหน่วยงานหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                             โดยที่หน่วยงานนั้นไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล

                         2)  การดำเนินงานผ่านการจัดตั้งบริษัทที่เป็นนิติบุคคลเอกชนตามกฎหมายจัดตั้ง

                             บริษัทเอกชนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ถือหุ้นและมีอำนาจกำกับดูแลกิจการ
                             ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมมากที่สุด โดยบริษัทนี้ต้องดำเนินกิจการที่รับผิดชอบต่อสังคม
                             (Corporate Social Responsibility - CSR) และ


                         3)  การดำเนินงานผ่านการจัดตั้งองค์กรของท้องถิ่นที่เป็นนิติบุคคลมหาชน
                             แยกออกจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ให้
                             งบประมาณสนับสนุนและมีอำนาจกำกับดูแลกิจการ


               3.2.2 แนวคิดและรูปแบบของกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)

                      ในปัจจุบันแนวความคิดเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) กลายเป็นแนวคิด
               หนึ่งที่หน่วยงานรัฐหรือรัฐบาลท้องถิ่นนำมาปรับใช้ในการให้กิจการเพื่อสังคมที่เป็นนิติบุคคลมีหน้าที่

               จัดทำบริการสาธารณะโดยที่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ลดภาระการดำเนินงานของรัฐบาลท้องถิ่น
               และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจทำในรูปของ
               การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าของมาจัดบริการสาธารณะ หรือ

               การถ่ายโอนงานหรือภารกิจแก่บุคคลอื่นหรือกระตุ้นให้บุคคลอื่นมาจัดบริการสาธารณะตามความ
               ต้องการของท้องถิ่นในรูปของกิจการเพื่อสังคมแทนท้องถิ่นก็ได้

                      ซึ่งแนวความคิดและรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ยังช่วยในการอุดช่องว่าง

               ของแนวคิดและรูปแบบกิจการพาณิชย์ (Local Public Enterprise) ดั้งเดิมที่จำกัดรูปแบบอยู่เพียง
               3 รูปแบบ ดังที่นำเสนอไป และเปิดโอกาสให้นิติบุคคลประเภทอื่นที่มีศักยภาพในการจัดบริการ
               สาธารณะได้ไม่แพ้กิจการพาณิชย์แบบดั้งเดิมได้เช่น มูลนิธิ สหกรณ์ หรือกิจการที่มีแรงงานเป็น

               เจ้าของ (Employee Ownership) เป็นต้น

                      3.2.2.1   แนวคิดและรูปแบบของกิจการเพื่อสังคม


                              กิจการเพื่อสังคม Social Enterprise UK ได้ให้ความหมายว่าเป็นธุรกิจที่ให้
               ความสำคัญต่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก โดยมุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาทาง
               สังคม ปรับปรุงโอกาสการดำรงชีวิตของประชาชน และมุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกิจการเพื่อสังคม

               มุ่งที่จะแบ่งปันความมั่งคั่งและให้โอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียในระบบเศรษฐกิจ (Social
               Enterprise UK 2012, 6) กล่าวคือกิจการเพื่อสังคมจะมีรูปแบบการจัดองค์กรที่มีวัตถุประสงค์
               เพื่อสังคมเป็นหลัก (social-purpose organization)
   224   225   226   227   228   229   230   231   232   233   234