Page 86 - kpi10440
P. 86
คู่ มื อ ส ม า ชิ ก ส ภ า ท้ อ ง ถิ่ น
รูปแบบเมืองพัทยามีปัญหาหลากหลายประการ อาทิ เช่น การสรรหาผู้จัดการเมืองที่มี
ความสามารถ การแทรกแซงการทำงานของผู้จัดการเมือง เป็นต้น ประกอบกับ
รัฐธรรมนูญ กำหนดให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง
จนมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารเมืองพัทยาเป็นรูปแบบการเลือกตั้งนายกเมือง
พัทยาโดยตรง ดังปรากฏในปัจจุบัน
รูปแบบสภา – ฝ่ายบริหาร ในแบบผู้บริหารอ่อนแอ โดยถูกนำมาทดลองใช้ใน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายรูปแบบ ในหลายช่วงเวลา อาทิ กรณีขององค์การ
บริหารส่วนจังหวัด เดิม พ.ศ. 2498 แบ่งโครงสร้างการบริหารออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่
ฝ่ายสภาจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และ ฝ่ายบริหาร ได้แก่ ผู้ว่า
ราชการจังหวัด จากนั้นจนมาถึง พ.ศ. 2542 ได้มีการกำหนดให้เรียกฝ่ายบริหารของ
องค์การบริหารส่วนจังหวัด ว่า “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” และมาจากความเห็น
ชอบของสภาจังหวัด นอกจากนี้กรณีขององค์การบริหารส่วนตำบลเอง เดิมเมื่อแรกจัดตั้ง
ในปี พ.ศ. 2537 ก็กำหนดให้กำนันทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหาร และสมาชิก
สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบางส่วนมาจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และบางส่วนมาจากการ
เลือกตั้งของประชาชน จากนั้นในปี พ.ศ. 2542 ก็ได้กำหนดให้ต้องมีเปลี่ยนแปลงให้
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหมู่บ้านละ 2 คน
และให้มีคณะกรรมการบริหารมาจากความเห็นชอบของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วน
ตำบล
กรณีของเทศบาล พบว่า ก่อนปี พ.ศ. 2543 เทศบาลแบ่งโครงสร้างองค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ฝ่ายบริหาร และ ฝ่ายสภาเทศบาล โดยผู้ที่ทำ
หน้าที่เป็นสภา หรือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ สภาเทศบาล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
ของประชาชน ส่วนฝ่ายบริหาร ได้แก่ คณะเทศมนตรี ซึ่งมาจากความเห็นชอบของสภา
เทศบาล จากนั้นหลังจากปี 2543 ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและกำหนดทางเลือกให้
แก่ประชาชนในเขตเทศบาลว่า สามารถมีฝ่ายบริหาร ได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ นายก
เทศมนตรี และ คณะเทศมนตรี แต่ทั้งนี้เทศบาลจะเลือกรูปแบบใดขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์
ของประชาชนในเทศบาลเป็นสำคัญ
สถาบันพระปกเกล้า