Page 80 - kpiebook65062
P. 80
ช่างฝรั่งรุ่นสุดท้าย
นอกเหนือจาก “สถาปนิกสยาม” รุ่นแรกที่กล่าวมา ช่วงรัชกาลที่ ๗ ก็ยังปรากฏอิทธิพลของ
สถาปนิกชาวตะวันตกอยู่มาก ด้วยเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม
ในสยาม เพราะสถาปนิกชาวไทยที่ได้รับการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์จากสถาบันการศึกษา
ในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงปลายรัชกาลที่ ๖ ต่อเนื่องถึงต้นรัชกาลที่ ๗ เริ่มเข้ามาทดแทน
ช่างฝรั่งที่รับราชการในสยามมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕ ทั้งนี้ในหมู่ช่างฝรั่งเองก็เกิดความเปลี่ยนแปลง
ในตัวบุคลากร กล่าวคือช่างฝรั่งชาวอิตาเลียนในกรมโยธาธิการรุ่นแรก อย่างนายมาริโอ ตามานโญ
(Mario Tamagno) นายคาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri) นายเอมิลิโอ โจวันนี กอลโล (Emilio
Giovanni Gollo) ต่างก็เกษียณอายุราชการไปในช่วงรัชกาลที่ ๖ แม้จะมีสถาปนิกชาวอิตาเลียน
รุ่นหลังเข้ารับราชการสืบต่อมา อย่างนายแอร์โกเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi) หรือนายเอมิลิโอ
ฟอร์โน (Emilio Forno) ช่างรุ่นนี้ก็เริ่มลดบทบาทลงทีละน้อย โดยเฉพาะเมื่อรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ
ให้เลิกจ้างข้าราชการชาวต่างประเทศในพ.ศ. ๒๔๗๒ เพื่อให้งบประมาณแผ่นดินเข้าสู่ดุลยภาพ
ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบราชการในรัชสมัย ทำให้ในรัชกาลที่ ๗ ก็ยังคงมีช่างฝรั่ง
อยู่ตามหน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น นายเฟาสโต ปิสโตโน (Fausto Pistono) หรือนายชาลส์ เบเกอแลง
(Charles A. Béguelin) นอกจากนี้ยังมีสถาปนิกฝรั่งที่เปิดสำนักงานออกแบบเอกชนอย่าง
นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) อีกด้วย
นายเฟาสโต ปิสโตโน (Fausto Pistono)
นายเฟาสโต ปิสโตโน (Fausto Pistono) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ที่เมืองริวาโรโล
คานาเวเซ (Rivarolo Canavese) นอกเมืองตุริน (Turin) ประเทศอิตาลี เดินทางมายังสยามในช่วง
รัชกาลที่ ๖ และได้รับราชการเป็นนายช่างที่กรมพระคลังข้างที่จนรู้ภาษาไทยเป็นอย่างดี ต่อมา
ได้สำเร็จการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมที่ราชวิทยาลัยศิลปอัลแบร์ตินา (Accademia Albertina
di Belle Arti) ที่ตุริน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ และได้กลับเข้ารับราชการเป็นสถาปนิกให้กับรัฐบาลสยาม
ในสังกัดกรมช่างสุขาภิบาล กระทรวงมหาดไทย จนถึงสิ้นรัชกาลที่ ๖ ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ ในวันที่
๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ โปรดเกล้าฯ ให้เลิกเวรแบบอย่าง (Building Section) กรมช่างสุขาภิบาล
กระทรวงมหาดไทย และให้เลิกจ้างช่างฝรั่งหลายนาย นายปิสโตโนได้ย้ายไปทำงานที่กรมช่างนคราทร
(City Engineer’s Office) จนถึงราว พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงเกษียณอายุราชการ รวมเวลาที่รับราชการ
อยู่ในสยามถึง ๒๔ ปี และได้เดินทางกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ประเทศอิตาลีในปีเดียวกันนั้น ๘
9