Page 76 - kpiebook65062
P. 76
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ พระสาโรชรัตนนิมมานก์มีบทบาทอย่างมาก
ในวงวิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ และต่อมาเมื่อทางการได้โอนงานก่อสร้างมา
รวมกันในกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ก็ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง
สถาปัตยกรรม มีบทบาทในการออกแบบอาคารจำนวนมากของทางราชการ โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผลงานสำคัญได้แก่ ตึกเคมี ๑ และหอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไปรษณีย์กลาง ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศาลาไทยในงานเอกซ์โปที่นครนิวยอร์ค
สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ เป็นต้น
ในช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา พระสาโรชรัตนนิมมานก์ถูกส่งไปควบคุมการก่อสร้างเมือง
หลวงใหม่ที่เพชรบูรณ์ ทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงมาก จนเมื่อสงครามยุติ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม
พ้นจากอำนาจไปแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๙๑ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ได้ลาออกจากราชการ คงเป็นอาจารย์
พิเศษที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สุขภาพก็เสื่อมลงโดยลำดับ จนถึงแก่
กรรมเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ สิริอายุได้ ๕๕ ปี
หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร
หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์
ประสูติแต่หม่อมแช่ม เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๘ ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี
พันปีหลวงจึงพระราชทานนามว่า สมัยเฉลิม ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัย
และต่อมาได้ไปทรงศึกษาต่อ ณ ทวีปยุโรป ที่ประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ จนถึงรัชกาลที่ ๖
ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ ทรงเข้าศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมที่โรงเรียนศิลปากร (École des Beaux-Arts)
กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นนักเรียนทุนส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ ๖ ทรงศึกษาอยู่ที่กรุงปารีส
เป็นเวลาถึง ๙ ปี
ในรัชกาลที่ ๗ ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งนายช่าง แผนกศิลปากรสถาน
ราชบัณฑิตยสภา และในปีต่อมาทรงย้ายมารับตำแหน่งนายช่างใหญ่ กรมวังนอก กระทรวงวัง ต่อมา
ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ทรงย้ายมารับตำแหน่งสถาปนิกที่กองสถาปัตยกรรม กระทรวงธรรมการ และเลื่อนเป็น
หัวหน้าแผนกออกแบบกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ใน พ.ศ. ๒๔๘๓