Page 85 - kpiebook65062
P. 85
การตั้งสมาคมวิชาชีพและวารสารของสมาคมวิชาชีพ
นอกเหนือจากสถาปนิก องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงใน
สถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลต่อมา คือสมาคมวิชาชีพ โดยที่มีการตั้งสมาคมสถาปนิก
สยามขึ้นในวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกันมาก่อนนานแล้ว คือการตั้ง
สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม (The Engineering Society of Siam) ขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๕๐ ในช่วง
ปลายรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นสมาคมแลกเปลี่ยนความรู้ในวิชาวิศวกรรมศาสตร์และศาสตร์เกี่ยวเนื่อง
มีการจัดกิจกรรมดูงานการก่อสร้างใหญ่ๆ ที่น่าสนใจในพระนคร เป็นต้น ถึงรัชกาลที่ ๗ สมาคมนี้
ก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่ โดยมีสมาชิกทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย โดยที่พระเจ้าพี่ยาเธอ
กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นสมาชิกสำคัญพระองค์หนึ่ง ด้วยเคยได้ทรงศึกษาวิชาวิศวกรรม
ที่ทรินิตี คอลเลจ (Trinity College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) และวิชาทหาร
ช่างที่ราชวิทยาลัยทหารช่าง (Royal School of Military Engineering) ที่เมืองแชทแธม (Chatham)
จนได้ทรงเป็นสมาชิก M.I.C.E. (Member of the Institution of Civil Engineers) ประเทศอังกฤษ
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินจึงมีหนังสือกราบบังคม
ทูลเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม เพราะเหตุว่า
“การช่างเป็นวิชชาที่พอพระราชหฤทัยอย่างหนึ่ง ในการที่ทรงเป็นประมุขแห่งชาติไทย มีพระราช
หฤทัยหวังบำรุงการช่างในหมู่คนไทยให้อยู่ในฐานะที่ดีด้วย” และสมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม
ก็มีวัตถุประสงค์ที่จะ “มุ่งรักษาฐานะและความรู้และสอดส่องความประพฤติของนายช่างประเทศสยาม
ให้เป็นหลักมั่นคงสำหรับประโยชน์ในการก่อสร้าง และการเครื่องกลเครื่องยนต์ในพระราชอาณาจักร
สยามให้ได้สู่ฐานะเทียบกับต่างประเทศ” ทั้งนี้รัชกาลที่ ๗ ทรงรับสมาคมนายช่างฯ ไว้ใน
พระบรมราชูปถัมภ์ และทรงรับเครื่องหมายสมาคมที่คณะกรรมการทูลเกล้าฯ ถวายที่วังศุโขทัย ในวันที่
๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ๒๔
ห้าปีต่อมา สมาคมสถาปนิกสยามจึงก่อตั้งขึ้น โดยมี “ผู้ริเริ่ม” ๗ ท่าน คือ พระสาโรชรัตน
นิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) หลวงบุรกรรมโกวิท (ล้อก ดิษยนิยม) นายนารถ โพธิประสาท หม่อมเจ้า
อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ และนายศิววงศ์
กุญชร ร่วมกันก่อตั้งขึ้นในวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ โดย “ผู้ริเริ่ม” ๗ ท่านนั้นเป็นกรรมการ
ชั่วคราวมาจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ปีเดียวกัน มีการประชุมใหญ่ครั้งแรกที่ศิลปากรสถาน จึงมี
การเลือกกรรมการอำนวยการ นายกสมาคม และเหรัญญิก โดยที่ในขณะนั้นมีสมาชิกสามัญ
สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ