Page 89 - kpiebook65062
P. 89
การเรียนการสอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ในสยาม
การศึกษาวิชาช่างในสยามตามแผนการศึกษาสมัยใหม่นั้นเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕
เมื่อมีการตั้ง สโมสรช่าง ขึ้นที่สามัคคยาจารย์สถาน เพื่อให้ความรู้วิชาช่างต่าง ๆ ได้แก่ ช่างเขียน
ช่างปั้น และช่างก่อสร้าง ต่อมาเมื่อมีผู้สนใจเข้าเรียนทวีจำนวนมากขึ้น กระทรวงธรรมการจึงเปิด
โรงเรียนฝึกหัดการหัตถกรรมขึ้นที่ถนนตรีเพชร และทดลองจัดงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียนขึ้น
ใน พ.ศ. ๒๔๕๕ จากนั้นจึงได้ใช้ทุนที่ข้าราชการกระทรวงธรรมการได้เรี่ยรายกันในคราวที่รัชกาลที่ ๕
เสด็จสวรรคต สมทบกับงบประมาณกระทรวงธรรมการ รวมเป็นเงิน ๒๙,๐๐๐ บาท สร้าง โรงเรียน
เพาะช่าง ขึ้น เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในรัชกาลที่ ๕ และเพื่อว่า “วิชาช่างที่จะได้เพาะปลูกขึ้นใน
โรงเรียนนี้ คงจะแตกดอกออกผลงอกงามให้เปนประโยชน์แก่ประชาชนในบ้านเมืองโดยไม่รู้สิ้นสุด”
ตามนามโรงเรียนที่รัชกาลที่ ๖ พระราชทานนั้น โดยในคราวที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียน
๒๗
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้น รัชกาลที่ ๖ มีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า
“วิชาช่างแลฝีมือการช่าง ทั้งสองอย่างนี้ เปนเครื่องแสดงความงามแลความประณีต ซึ่งจะ
มีได้เปนได้แต่ในประเทศบ้านเมืองที่สงบราบคาบ แลมีการปกครองเปนอันดี ไพร่ฟ้าประชาชนได้รับ
ความสงบร่มเย็นเพื่อประกอบการอาชีวะได้สะดวก จึงมีเวลาคิดแลบำรุงความงามความประณีตให้เปน
ที่น่าสรรเสริญ . . . ความเจริญในวิชาช่างจึงเปนเครื่องวัดความเจริญแห่งชาติ”
“ชาติไทยเราได้เคยถึงซึ่งความเจริญมานานแล้ว ดังปรากฏด้วยระเบียบแบบแผนแลตำนาน
ของเรา แต่บางสมัยในพงษาวดารของเราได้มีข้าศึกสัตรูเข้ามาย่ำยีทำลายถาวรวัตถุต่างๆ ของเรา
แลทำความทรุดโทรมให้เปนอันมาก ครั้นต่อมาเมื่อเราต้องดำเนิรตามสมัยใหม่ วิชาช่างของเรา
เราก็ชวนจะลืมเสียหมด ไปหลงเพลินแต่จะเอาอย่างของคนอื่นเขาถ่ายเดียว ผลที่สุดก็คือกรุงเทพฯ
เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยสถานที่อันเปนเครื่องรำคาญตาต่าง ๆ แท้จริงวิชาช่างเปนวิชาพื้นเมือง จะคอยแต่
เอาอย่างของคนอื่นถ่ายเดียวไม่ได้ เพราะงามของเขาไม่เหมาะแก่ตาเรา แลฐานะของเขากับของเรา
ต่างกัน ที่ถูกนั้นควรเราจะแก้ไขพื้นวิชาของเราเองให้ดีขึ้นตามความรู้ แลวัตถุอันเกิดขึ้นใหม่ตามสมัย . . .
เปรียบเหมือนเอาพรรณพืชของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา แล้วบำรุงให้เติบโตงอกงาม
ดีกว่าที่จะไปเอาพรรณไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเราอันไม่เหมาะกัน” ๒๘
กิจการโรงเรียนเพาะช่างพัฒนาไปโดยลำดับ ทั้งวิชาช่างเขียน ช่างปั้น และช่างก่อสร้าง
ตามหลักสูตรที่นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) สถาปนิกชาวอังกฤษ และครูใหญ่คนแรกของ
โรงเรียน ได้วางไว้ ตามแนวทางการเรียนการสอนแบบวิชาอาชีวศึกษา (Vocational Education)
8 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ