Page 93 - kpiebook65062
P. 93
(รุณชิต กาญจนวนิชย์) เป็นคณบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ส่วนอาจารย์นารถ
โพธิประสาท ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคณะต้องย้ายไปรับราชการในตำแหน่งหัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมโยธา
เทศบาล ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ แต่ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตลอดมาจน พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงแก่กรรม
ข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่งเมื่อแรกตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น
คืออาจารย์ผู้สอน อาจารย์นารถ โพธิประสาทจึงเชิญสถาปนิกที่ประกอบวิชาชีพในขณะนั้น
ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาร่วมกันสอนวิชาต่างๆ โดยมีอาจารย์ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา ซึ่งสำเร็จ
การศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา เป็นอาจารย์ประจำ และมีศาสตราจารย์
ลูเซียง คอปเป (Lucien Coppé) ชาวเบลเยียม ร่วมร่างหลักสูตร โดยมีนายเฟาสโต ปิสโตโน
สอนวิชาออกแบบ (Architectural Design Studio) นายแอร์โกเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi)
สอนวิชาเขียนภาพคน (Life Class) ขณะที่ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี (Corrado Feroci) สอนวิชา
ประวัติศาสตร์ศิลป์ ร่วมกับสถาปนิกไทย เช่น หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร หลวงปริญญาโยควิบูลย์
(ชม รามโกมุท) หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ และพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นต้น หลักสูตร
และการเรียนการสอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้สถาปนาขึ้น
ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๗ จึงมีความผสมผสานทั้งความเป็นตะวันออกและตะวันตก ทั้งหลักสูตร
โรงเรียนศิลปากร (Ecole des Beaux Arts) ของฝรั่งเศส หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ของ
มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ตลอดจนแนวทางการจัดการการเรียนการสอน ประเพณีการรับน้องและ
กิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา
ใน พ.ศ. ๒๔๗๖ พร้อม ๆ กับการตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รัฐบาลในขณะนั้นได้จัดตั้ง โรงเรียนช่างก่อสร้าง ขึ้นตามดำริของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) โดยแยกจากแผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่าง ให้เป็นที่ฝึกหัดวิชาช่าง
ก่อสร้างที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมุ่งผลิต
สถาปนิกวิชาชีพ ให้มีมาตรฐานควบคู่กันไป ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ กระทรวงธรรมการจึงให้โรงเรียนช่าง
ก่อสร้างนี้มาตั้งอยู่ในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ริมถนนพญาไท เชิงสะพานอุเทนถวาย
และเรียกชื่อว่า โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย สืบมา
82 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ