Page 95 - kpiebook65062
P. 95
สรุป
ช่วงรัชกาลที่ ๗ แม้จะนานเพียงเก้าปี แต่ก็เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลสยาม
ยุติการว่าจ้างช่างฝรั่ง ทั้งสถาปนิกและวิศวกร ทดแทนโดยสถาปนิกและวิศวกรชาวสยาม ซึ่งได้รับ
การศึกษาในทวีปยุโรป มีความรู้ความสามารถทัดเทียมกับช่างฝรั่ง หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร
พระสาโรชรัตนนิมมานก์ อาจารย์นารถ โพธิประสาท ทำงานร่วมกับช่างฝรั่งรุ่นสุดท้าย เช่น นายชาลส์
เบเกอแลง นายเอมิลิโอ ฟอร์โน นายอันนิบาเล ริก็อตติ และนายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ ในขณะเดียวกัน
ก็ได้ทำงานร่วมกับช่างไทยแบบจารีต เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระพรหมพิจิตร
และหลวงวิศาลศิลปกรรม เป็นต้น “สถาปนิกสยาม” รุ่นบุกเบิกนี้มีบทบาทอย่างมากในการสถาปนา
สมาคมวิชาชีพ วารสาร ตลอดจนสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสถาปนิก
และประชาสัมพันธ์ให้วิชาชีพเป็นที่รู้จักของมหาชน กระบวนการสร้างวิชาชีพ (professionalization)
นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่สมัยใหม่ของสังคมสยามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่มีผลอย่างยิ่งต่อกำเนิดของวิชาชีพสถาปนิกในสมัยต่อมา
8 สถาปัตย์ใต้ร่มฉัตรพระปกเกล้าฯ