Page 100 - kpiebook65062
P. 100

สถาปัตยกรรม

                                                                              ใต้ร่มฉัตรรัชกาลที่ ๗









                            ด้วยบริบทและพัฒนาการในงานสถาปัตยกรรม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทก่อนหน้า

                      สถาปัตยกรรมในช่วงรัชสมัยจึงมีรูปแบบที่หลากหลาย สะท้อนถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลง การปรับเข้าสู่
                      สภาวะ “สมัยใหม่” ในสังคมสยาม โครงการก่อสร้างของภาครัฐจำนวนมากสะท้อนความพยายามที่จะ
                      พัฒนาประเทศให้ทัดเทียมมาตรฐานตะวันตก ดังปรากฏในอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ ตลอดจน

                      อาคารอุตสาหกรรม และสิ่งก่อสร้างเพื่อสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ เช่น ตลาด โรงงาน
                      โรงพยาบาล และสะพาน เป็นต้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ยังพยายามธำรงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นชาติ

                      ไว้ในงานสถาปัตยกรรม ดังปรากฏในอาคารจำพวกสถานศึกษา ศาสนสถาน และอนุสาวรีย์ เป็นต้น
                      ส่วนอาคารของเอกชนก็มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่หลากหลายเช่นกัน ทั้งอาคารพาณิชย์และอาคาร
                      พักอาศัย สะท้อนถึงการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมอันหลากหลายของโลกตะวันตก กับแบบแผน

                      ความเป็นอยู่และสภาพภูมิอากาศของสยาม

                      สถาปัตยกรรมไทย



                            สถาปัตยกรรมไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการสืบทอดแบบแผน
                      สถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่มีมาช้านาน ท่ามกลางกระแสธารของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะ
                      “สมัยใหม่” ของสยาม การประยุกต์ใช้รูปแบบและเครื่องตกแต่งสถาปัตยกรรมแบบไทยเข้ากับแนวคิด

                      วิธีการออกแบบและรูปทรงอาคารแบบตะวันตกนี้มีมาตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จ
                      พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ในอาคารพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (พ.ศ. ๒๔๒๕) ซึ่งมีรูปทรงตัว

                      อาคารแบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ แต่มีเรือนยอดปราสาทจตุรมุขแบบไทยประเพณี พระที่นั่ง
                      ราชกรัณยสภา (ราว พ.ศ. ๒๔๔๐) ซึ่งเป็นอาคารเครื่องก่อสูงสองชั้น มีรูปทรงแบบไทยประยุกต์
                      สถาปัตยกรรมรูปแบบไทยที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือศาสนสถาน โดยที่ในช่วงปลายรัชกาลที่ ๕

                      สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ทรงร่วมกับสถาปนิกชาวอิตาเลียน ออกแบบ
                      อาคารสำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตร (พ.ศ. ๒๔๔๕) และพระอุโบสถ วัดราชาธิวาส

                      (พ.ศ. ๒๔๕๐) ผสมผสานแบบแผนสถาปัตยกรรมแบบจารีตโบราณของสยาม กับวัสดุก่อสร้างและ
                      เทคนิควิทยาการก่อสร้างอย่างตะวันตก เกิดเป็นสถาปัตยกรรมไทยในรูปแบบใหม่




                                                                                                            89
   95   96   97   98   99   100   101   102   103   104   105