Page 25 - kpiebook63019
P. 25
20
ลักษณะที่สอง คือ มีอำนาจในการยืนยันให้กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาแล้วมีผล
บังคับใช้ได้ กระบวนการนิติบัญญัตินั้น เป็นการทำให้แนวคิดหรือข้อเสนอผ่านการตรวจสอบพิจารณาจาก
ตัวแทนของประชาชนก่อนที่จะนำไปใช้เป็นกฎเกณฑ์บังคับกับประชาชนเอง ความเห็นชอบขององค์กร
นิติบัญญัติในฐานะของตัวแทนประชาชนต่อร่างกฎหมายจึงได้รับการเคารพอย่างมาก แม้ฝ่ายบริหารในฐานะ
ผู้ที่ต้องนำกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาไปดำเนินการบังคับใช้ จะสามารถมีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย
ได้ผ่านกระบวนการไม่ลงนามประกาศใช้ แต่ก็กระทำได้เพียงยับยั้งเป็นการชั่วคราวเท่านั้นโดยรัฐธรรมนูญ
ในหลายประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี ยูเครน โปรตุเกส รวมทั้งประเทศไทย จะกำหนด
ให้องค์กรนิติบัญญัติสามารถลงมติยืนยันที่จะให้กฎหมายที่พิจารณาเห็นชอบใช้บังคับได้ โดยไม่ต้องมี
การประกาศให้กฎหมายมีผลบังคับใช้จากฝ่ายบริหาร จะเห็นได้ว่าการใช้อำนาจดังกล่าว เป็นทั้งมาตรการ
ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไปพร้อมกับการถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ซึ่งทำได้โดย
การตรากฎหมายที่ควบคุมการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ตรวจสอบกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายที่ฝ่ายบริหาร
มีอำนาจตราในสถานการณ์บางประเภทหรือการพิจารณาพระราชกำหนด นอกจากนี้การตรากฎหมาย
ยังสามารถถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการได้อีกด้วย เพราะการดำเนินการของฝ่ายตุลาการ ไม่ว่า
จะเป็นการจัดตั้งศาล หรือการกำหนดวิธีพิจารณานั้นจะต้องไปเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าต้องเป็น
กรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นสมควรก่อนเท่านั้น ฝ่ายตุลาการจึงจะสามารถดำเนินงานได้ ที่สำคัญคือในกรณีที่
ฝ่ายตุลาการใช้อำนาจในการตีความกฎหมายไม่สอดคล้องต้องกับเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายนิติบัญญัติ
ก็สามารถตรากฎหมายเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนเพื่อจำกัดกรอบการตีความกฎหมายของ
ฝ่ายตุลาการได้อีกด้วย
ประการที่สาม ฝ่ายนิติบัญญัติต้องมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้ การควบคุม
ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในรัฐสมัยใหม่เป็นสิ่งจำเป็น บทบาทและอำนาจหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติในเรื่อง
การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้นมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียดในแต่ละประเทศ โดยขึ้นอยู่กับ
ลักษณะของระบบการปกครอง อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปฝ่ายนิติบัญญัติจะมีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้
ในสองลักษณะคือ
ลักษณะแรก การอนุมัติและตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก
ในการดำเนินกิจการของรัฐสมัยใหม่ ที่มาของรายได้ของรัฐส่วนใหญ่ก็มาจากประชาชน การกำหนดแผน
การใช้งบประมาณและการดำเนินการใช้งบประมาณจึงมีความจำเป็นผ่านความเห็นชอบจากตัวแทนของประชาชน
ซึ่งก็คือฝ่ายนิติบัญญัตินั่นเอง การควบคุมการอนุมัติและตรวจสอบการใช้งบประมาณโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
มีความสำคัญมากและมีความเปราะบางต่อการดำเนินงานของฝ่ายบริหารอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้การบริหาร
แผ่นดินไม่สามารถดำเนินการได้ ในระบบรัฐสภาหากฝ่ายนิติบัญญัติไม่รับหลักการหรือไม่อนุมัติร่างกฎหมาย
งบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็เป็นการสะท้อนว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีความไว้วางใจฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหาร
ก็ต้องรับผิดชอบทางการเมืองโดยการลาออกไป ส่วนในระบบประธานาธิบดี ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติและ
12
12 จาก ข้อสังเกตบางประการในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของวุฒิสภา, (2556), โดย ปิยชาติ ศิลปะสุวรรณ,
บทความวิชาการ, (น.8), สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.
การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐสภาไทย (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) โดยใช้เกณฑ์และตัวชี้วัดของ Inter-Parliamentary Union (IPU)