Page 36 - kpiebook62008
P. 36
บทที่ ๒
กรอบแนวคิดว่าด้วยภาษี : การจำกัดสิทธิของปัจเจกบุคคลเพื่อประโยชน์มหาชน
๕. การเสียภาษีเป็นการใช้อำนาจรัฐจำกัดสิทธิของปัจเจกบุคคลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและ
ตอบสนองวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของนโยบายรัฐ การเสียภาษีจึงเป็นไปในลักษณะของการบังคับ (๒.๑) ด้วยเหตุนี้
การเสียภาษีจึงถูกมองเป็น “หน้าที่” หากประชาชนหนีการเสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ถูกต้อง ย่อมได้รับโทษตามที่
กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่การใช้อำนาจรัฐ จะพบว่า การจัดเก็บภาษีเป็นการจำกัดสิทธิใน
ทรัพย์สินของประชาชนประการหนึ่ง การจำกัดสิทธิดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คำนึงถึงความได้
สัดส่วนในการจำกัดสิทธิ ความเสมอภาคในการจัดเก็บภาษีโดยสอดคล้องกับความสามารถของผู้เสียภาษี ในแง่ของ
การบริหารจัดการระบบภาษีจำต้องคำนึงถึงหลักการบริหารภาษีที่ดีอีกด้วย เพราะฉะนั้นการจัดเก็บภาษีไม่อาจ
คำนึงถึงเฉพาะหน้าที่ของผู้เสียภาษี แต่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ “สิทธิของผู้เสียภาษี” และสร้างความสมดุล
ระหว่างหน้าที่และสิทธิของผู้เสียภาษีโดยพิจารณาถึงแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (๒.๒)
๒.๑ หน้าที่และสิทธิของผู้เสียภาษี : ความจำเป็นในระบบภาษี
๖. ตามกฎหมายการคลังสาธารณะ รายได้สาธารณะแบ่งออกเป็นสองประเภทอันได้แก่ รายได้ที่เป็นภาษี
และรายได้ที่มิใช่ภาษี ภาษีอยู่ในฐานะที่เป็นรายได้สำคัญของรัฐ โดยที่มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ ๘๐ – ๙๐
ของรายได้สาธารณะทั้งหมด นอกจากเป็นรายได้สำคัญของรัฐแล้ว ภาษียังเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงระบบ
๑
เศรษฐกิจของรัฐอีกด้วย ภาษีจึงเป็นเครื่องมือทางการคลังที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง (๒.๑.๑) ทั้งนี้ เพื่อนำภาษีอากร
ดังกล่าวไปใช้ดำเนินการต่าง ๆ ภายในรัฐโดยคำนึงถึงประโยชน์ของมหาชนเป็นสำคัญ (๒.๑.๒)
๑ สุปรียา แก้วละเอียด, กฎหมายงบประมาณของประเทศไทย, (กรุงเทพมหานคร : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.,
๒๕๖๐), หน้า ๑๕.