Page 698 - kpi17073
P. 698

การประชุมวิชาการ
                                                                                         สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 16   697


                      ก็ตามที่พรรคการเมืองอ่อนแอ ขัดแย้ง และมีการทุจริต ข้าราชการทหารและพลเรือนก็จะขึ้นมา
                      แย่งอำนาจการเมืองจากพรรคการเมืองและนักการเมือง นี่คือดุลแห่งอำนาจขั้วที่หนึ่ง


                            ขั้วที่สอง ก็คือ เอกชนไทย ที่ได้รับผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่แผน 1
                      ถึงแผน 5 มีความเติบโตมากขึ้น พอที่จะเข้ามาคานและมีส่วนร่วมกับรัฐ เกิด กรอ. หรือ

                      คณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนขึ้นในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ
                      ขึ้น เกิดหลักสูตร วปอ. ปรอ. ภาครัฐ-เอกชนมาเรียนร่วมกันขึ้น ต่อมาก็มาถึงปี 2540 เมื่อมีการ

                      เรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้วไม่รับรองรัฐธรรมนูญฉบับ รสช. โดยการ
                      อดอาหารของเรือตรี ฉลาด วรฉัตร อันนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย
                      แก้รัฐธรรมนูญ มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ไปจบลงด้วยการมีรัฐธรรมนูญปี 2540

                      รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็นำสมดุลทางการเมืองหรือทางอำนาจขึ้นมาใหม่ระหว่างการเมืองของ
                      นักการเมืองกับการเมืองภาคพลเมือง อำนาจรวมศูนย์กระจายออกไปให้ได้ดุลกับอำนาจของ

                      ท้องถิ่น เอาอำนาจของศาลและองค์กรอิสระเข้ามาทัดทานตรวจสอบอำนาจการเมืองของฝ่าย
                      บริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นอันว่าดุลยภาพแห่งอำนาจตั้งปี 2540 ถึงปี 2549 นี้ก็ได้ผลใน
                      ระดับหนึ่ง


                            จนกระทั่งเกิดมีปัญหาของการเสียสมดุล การเสียสมดุลนั้นเกิดจากความขัดแย้งทาง

                      การเมืองระหว่างรัฐบาลพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรกับบุคคลที่
                      เรียกว่า “เสื้อเหลือง” นำไปสู่การยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 แล้วก็มีการจัดทำ
                      รัฐธรรมนูญปี 2550 ช่วงนี้ก็มีการเกิดขึ้นของคนเสื้อแดง ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2557 เจ็ดปี

                      นอกจากมีปัญหาเรื่องความสมดุลระหว่างการเมืองของนักการเมืองกับการเมืองของพลเมือง
                      อำนาจรวมศูนย์กับอำนาจท้องถิ่น อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจของศาลและองค์กร

                      ตรวจสอบแล้ว ยังมีอำนาจของคนมั่งมีและคนชั้นกลางระดับบน ผมหมายถึงอำนาจทางเศรษฐกิจ
                      และสังคมของคนชั้นกลางระดับบนและคนมั่งมีกับอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมของคนไม่มีและ
                      คนชั้นกลางระดับล่าง ตลอดจนอำนาจของสถาบันการเมืองกับอำนาจของพลเมืองบนท้องถนน

                      ไม่ว่าจะเป็นม็อบเสื้อเหลือง ม็อบเสื้อแดง ม็อบเสื้อหลากสี จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อก่อน
                      คนไทยอยู่เย็นเป็นสุข มาบัดนี้คนไทยอยู่ร้อนนอนทุกข์ เดือดร้อนถึงขนาดที่ คสช.ต้องออกมา

                      แสดงความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แล้วก็สัญญาว่า จะคืนความสุขให้กับประชาชน

                            โจทย์ใหญ่จึงมีอยู่ว่า เราจะช่วยกันเปลี่ยนสภาพอยู่ร้อนนอนทุกข์ให้เป็นสภาพที่เกิดสันติสุข

                      และสถาพรได้อย่างไร คำพูดนี้ผมยืมมาจากคุณมานิจ สุขสมจิต บรรณาธิการอาวุโสของไทยรัฐ
                      ฟังแล้วมันกินใจดี เดิมอยู่เย็นเป็นสุข บัดนี้อยู่ร้อนนอนทุกข์เราจะทำอย่างไรให้เกิดสันติสุขและ

                      สถาพรนี่คือโจทย์ใหญ่ เมื่อตั้งโจทย์ดังนี้เสียแล้ว เราก็ต้องมาดูว่าอะไรคือสาเหตุ อะไรคือปัญหา
                      อะไรคือสาเหตุ แล้วจะได้หาทางแก้ได้ที่เหตุ เมื่อวานนี้อาจารย์วิษณุอ้างบาลี วันนี้ผมก็เห็น
                      พระคุณเจ้ามานั่งอยู่ที่นี่สองรูป ก็ขออนุญาตอ้างบาลีเหมือนกัน บาลีนั้นอยู่ในธัมมจักกัปปวัตตน

                      สูตรว่า “ยัง กิญจิ สมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะ ธัมมันติ” พูดครั้งที่สองก็จะไม่เหมือนเดิม
                      แล้วนะ แปลว่า “ธรรมอันใดเกิดแต่เหตุ ถ้าเหตุดับ ธรรมอันนั้นก็ดับ” เพราะฉะนั้น เราต้องดูที่          ปาฐกถาปิด

                      สาเหตุของปัญหาจึงหาทางแก้ได้ถูกต้อง
   693   694   695   696   697   698   699   700   701   702   703