Page 321 - kpi16531
P. 321
30 นวัตกรรมการพัฒนารายได้
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
.2 ความหมาย แนวคิด และประสบการณ์จากต่างประเทศ
การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น (Local economic development: LED) เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถ
เพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น ความหมายโดยทั่วไปของการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น คือ กระบวนการ
ในการพัฒนาและคงไว้ซึ่งสภาพเศรษฐกิจที่ดีของท้องถิ่น (Morgan, England, & Pelissero, 2007,
p. 135) หรือการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นให้สามารถสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประชากร
ในท้องถิ่น (Bartik, 2003, p. 1) กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นอาจเกิดจากความร่วมมือ
ของภาครัฐ เอกชน องค์การนอกภาครัฐอื่นๆ (Non-governmental organizations: NGOs) และ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระบวนการดังกล่าวให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน
และการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นมีวัตถุประสงค์
สำคัญอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ (1) การเสริมสร้างความสามารถหรือศักยภาพทางเศรษฐกิจ
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการเพิ่มความหลากหลายทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น,
(2) การสร้างงานที่ดีและเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่การจ้างงานที่มากขึ้นและผลผลิตที่สูงขึ้น, (3) การเพิ่ม
ความสามารถในการขยายฐานภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ (4) การพัฒนาบริเวณ
ต่างๆ ในชุมชน โดยเฉพาะแหล่งเสื่อมโทรมและบริเวณที่เก่าแก่ (Morgan, England, & Pelissero,
2007; World Bank, n.d.) การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นส่งเสริมให้เกิดความเจริญเติบโตทาง
เศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต
โดยรวมของประชากรในท้องถิ่นนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม แต่ละท้องถิ่นอาจมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เฉพาะเจาะจงแตกต่าง
กันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้ง ทรัพยากรในท้องถิ่น ขนาดของชุนชนหรือท้องถิ่น
ความต้องการของประชากรในท้องถิ่น วัฒนธรรม และปัญหาของท้องถิ่นในขณะนั้น
.2.1 แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นมีหลายวิธี เช่น การสร้างบรรยากาศทางการลงทุนและ
ดึงดูดการลงทุนของภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจระดับต่างๆ
โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง การสนับสนุนการก่อตั้งธุรกิจใหม่ การพยายามคงไว้ซึ่ง
การเป็นฐานการลงทุน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรมและพัฒนาคุณภาพแรงงาน
การกำหนดพื้นที่เฉพาะเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ (World Bank, n.d.) การพัฒนาเศรษฐกิจ
ในท้องถิ่นไม่มีสูตรตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละชุมชนหรือท้องถิ่นว่ามีโอกาสหรือปัญหาใดที่ต้องเร่ง
แก้ไขแล้วจึงเลือกวิธี กลยุทธ์ และเครื่องมือที่เหมาะสมที่จะใช้พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้นๆ การ
พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ/หรือภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมต้องใช้
ความรู้และความชำนาญในหลายด้าน อาทิ ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การตลาด การวางแผน
ด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาธุรกิจ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งถ้ามีการวางแผนและ
ดำเนินการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
ในพื้นที่ สามารถสร้างความเจริญเติบโตที่ยั่งยืน (Sustainable growth) และนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ของท้องถิ่นในลักษณะทวีคูณ (Multiplier effects)