Page 112 - kpi16531
P. 112
นวัตกรรมการพัฒนารายได้
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในทางทฤษฎีการกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเป้าหมาย
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากพื้นที่ของตนเอง
ในสัดส่วนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อความเป็นอิสระทางการคลัง แต่เมื่อพิจารณาการกระจายอำนาจ
ทางการคลังของไทยในทางปฏิบัติจากประเภทรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหลักเกณฑ์
การจัดสรรรายได้ พบว่า รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อ
เทียบกับรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด คือ คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 ของ
รายได้ทั้งหมดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้สาเหตุสำคัญอาจเป็นเพราะองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นยังขาดความเป็นอิสระในการกำหนดแหล่งรายได้ของตนและยังขาดอำนาจในการจัดเก็บ
ภาษีประเภทต่างๆ ในพื้นที่, บุคลากรท้องถิ่นยังขาดความกระตือรือร้นในการจัดเก็บรายได้และ
เพิ่มขนาดรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บ
ภาษีจากหน่วยงานราชการและ/หรือรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาดำเนินงานให้บริการสาธารณะและได้รับ
รายได้จากในพื้นที่ได้
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา รายได้ส่วนใหญ่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจาก
รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้และรายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของรายได้
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ขณะที่เงินอุดหนุนเป็นรายได้ที่มีนัยสำคัญต่อรายได้ขององค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเดียวกัน โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งหมด
ดังนั้น รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้ รายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ และเงินอุดหนุน จึงเป็นแหล่งรายได้
สำคัญสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่รายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บเองกลับมี
สัดส่วนต่ำ และสัดส่วนมิได้เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ดังตารางที่ 1 ลักษณะเช่นนี้
แสดงให้เห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีแนวโน้มสูงในการพึ่งพิงรายได้จากรัฐบาลทั้งในส่วนภาษี
และเงินอุดหนุน และยังสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นอิสระและศักยภาพทางการเงินการคลังขององค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพทางการเงินการคลังขององค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ (สกนธ์ วรัญญูวัฒนา, 2554: 38)
ที่ผ่านมามีนักวิชาการได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงทางด้านรายได้ขององค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อมุ่งเพิ่มศักยภาพทางการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มี
ความเข้มแข็ง โดยข้อเสนอแนะส่วนใหญ่มุ่งไปในทิศทางของการปรับปรุงโครงสร้างการจัดสรร
งบประมาณ การปรับปรุงขนาดของงบประมาณอุดหนุน และการพัฒนาแหล่งรายได้ขององค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นในส่วนการเพิ่มฐานภาษีใหม่และการเพิ่มรายรับให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อาทิ การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินบนฐานของทรัพย์สิน (มูลค่าของทรัพย์สิน) ในส่วนของภาษีโรงเรือน
และที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่, การจัดเก็บภาษีมรดก และภาษีการอยู่อาศัย และการเพิ่มสัดส่วนภาษี
เงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีสรรพาสามิต แบ่งให้แก่องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ปัจจุบันข้อเสนอแนะเหล่านี้ยังมิได้ถูกนำไปปฏิบัติแต่อย่างใด สาเหตุสำคัญ
อาจเป็นเพราะเกิดการติดขัด ขาดความชัดเจน หรือขาดการกำหนดไว้ในข้อกฎหมายหรือระเบียบ
ปฏิบัติต่างๆ ซึ่งจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขต่อไป