Page 197 - kpiebook66032
P. 197
การจัดการเมืองเชิงระบบในภาวะฉุกเฉิน: กรณีโควิด-19
เทศบาลเมืองแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
จิตรานุช เกียรติอดิศร 213
เกริ่นนำ ท้องถิ่นในโลกยุควูก้า (VUCA WORLD)
เมื่อกล่าวถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยที่เป็นผู้นำในการใช้ข้อมูลและ
สารสนเทศร่วมกับเครือข่ายการทำงานเพื่อสนับสนุนการจัดการเมืองแล้ว เทศบาลเมืองแม่เหียะ
มักได้รับการกล่าวถึงเป็นแห่งแรก ๆ เนื่องจากเป็นเทศบาลผู้เริ่มต้นพัฒนาและใช้ประโยชน์
ระบบฐานข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการเมืองและให้บริการสาธารณะแก่
ประชาชนที่ครอบคลุมร่วมกับเครือข่ายทั้งในภาครัฐและภาควิชาการ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพ
ให้กับการทำงานในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่แสดง
ให้เห็นถึงความจำเป็นของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและนำข้อมูลและสารสนเทศ
มาใช้ในการบริหารเมืองท่ามกลางการเผชิญวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดที่รุนแรงอย่าง
ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ เผยให้เห็นความท้าทายของ
การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในเขตเมืองทั้งเรื่องการจัดการเชิงกายภาพในเขตเมืองที่มี
ความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โครงสร้างการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข
ระหว่างรัฐท้องถิ่นกับรัฐส่วนกลางที่มีความทับซ้อนกัน การขาดความยืดหยุ่นของกลไกทาง
กฎหมายสำหรับการจัดการวิกฤตในเขตเมือง รวมไปถึงความท้าทายของการประสานงาน ส่วนที่ บันทึกเรื่องเด่น
ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในเขตเมือง ดังนั้นความสามารถในการสื่อสารระหว่างกันจึงเป็น
214
ความจำเป็นลำดับต้น ๆ เพื่อการจัดการกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ในเขตเมือง
213 นักวิชาการวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า
214 ทวิดา กมลเวชช และคณะ (2565). การศึกษาวิจัย การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในภาวะวิกฤต
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของพื้นที่กรุงเทพมหานครภายใต้ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการกระจายอำนาจและ
ประชาธิปไตยท้องถิ่น. กรุงเทพ: วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า, 2565. หน้า 1-3
สถาบันพระปกเกล้า 1 1