Page 14 - kpiebook63019
P. 14
9
1.1 ที่มาและความสำคัญของปัญหา
รัฐสภาไทยเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตย มีอำนาจหน้าที่หลัก
ในด้านนิติบัญญัติ ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องต่าง ๆ ในฐานะผู้แทน
ปวงชนชาวไทย การดำเนินงานของรัฐสภานั้น โดยหลักต้องดำเนินการตามหน้าที่บนพื้นฐานการบริหารจัดการ
ที่ดี สอดคล้องกับหลักคุณธรรม และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การดำเนินการต้องสอดรับกับความคาดหวังของ
ประชาชน สำหรับรัฐสภาไทย มีกำเนิดมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 และในช่วงกว่า
8 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง และเกิดการเปลี่ยนแปลง
ทางรัฐสภาไทยเอง อย่างไรก็ตามด้วยบทบาทอำนาจหน้าที่ ที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ได้ทำให้
รัฐสภาเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงและมีเกียรติ เป็นที่ทำงานของผู้ที่จัดว่าเป็นตัวแทนของประชาชน
มีภารกิจที่กำหนดให้สมาชิกรัฐสภาต้องสำนึกรับผิดชอบ ในฐานะตัวแทนทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
การตัดสินใจและการดำเนินการของพวกเขาล้วนมีผลกระทบต่อประชาชนโดยภาพรวม นอกจากนี้การมี
ความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนเจ้าของอำนาจ ก็มีความจำเป็นเพื่อให้สมกับการทำหน้าที่จรรโลงประชาธิปไตย
แบบตัวแทนให้มีความเข้มแข็ง ที่ผ่านมาประชาชนชาวไทยมักไม่ค่อยได้มีโอกาสทราบผลการทำงานของ
รัฐสภาไทยมากนัก ด้วยระบบการสื่อสารและช่องทางที่มีจำกัด แต่ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะปฏิรูประบบ
การบริหารราชการแผ่นดิน ไปสู่ภาวะวิถีปกติใหม่ (New Normal) กลไกในการเข้าถึงข้อมูล การมีส่วนร่วม
การติดตามตรวจสอบการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องใช้เงินภาษีประชาชนจึงมีความจำเป็นมากขึ้น
ประกอบกับการมีการประเมินผลการทำงานที่เป็นรูปธรรม มีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ช่วยให้ได้ทราบผลการทำงาน
ขององค์กร และมีข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ดังนั้น เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าการดำเนินงานของรัฐสภาจะต้องตรงตามความประสงค์ของหลักการ
ข้างต้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานของรัฐสภา ซึ่งสามารถ
เทียบวัดกับมาตรวัดรัฐสภาของประเทศอื่น ๆ โดยผ่านเกณฑ์และตัวชี้วัดที่สหภาพรัฐสภา (Inter -
Parliamentary Union: IPU) ได้กำหนดไว้ การประเมินการดำเนินงานของรัฐสภาตามเกณฑ์และตัวชี้วัดของ
สหภาพรัฐสภาจึงเกิดขึ้น เพื่อประเมินการดำเนินงานของรัฐสภาไทยตามกรอบตัวชี้วัดที่เป็นสากลของสหภาพ
รัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliamentary Union : IPU) ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 6 ด้าน ได้แก่ การเป็น
ตัวแทนประชาชน การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร การทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ความโปร่งใส
และการเข้าถึงได้ ความสำนึกรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมในนโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งผลการศึกษา
และประเมินดังกล่าวจะนำไปสู่การเปรียบเทียบกับมาตรฐานการดำเนินงานของรัฐสภาสากลและนำไปสู่
แนวทางการพัฒนาความก้าวหน้าในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐสภาไทย (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) โดยใช้เกณฑ์และตัวชี้วัดของ Inter-Parliamentary Union (IPU)