Page 13 - b29420_Fulltext
P. 13
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and
Political Rights: ICCPR) ได้กำหนดไว้ให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมต้องประกอบด้วย
องค์ประกอบ 8 ประการ คือ 1) การเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นตามวาระ (periodic elections) อย่างสม่ำเสมอ 2) จัด
ให้มีการเลือกตั้งโดยทั่วไป (universal suffrage) 3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน (equal suffrage)
4) การยืนยันต่อประโยชน์สาธารณะ (public office) 5) สิทธิในการเลือก (right to vote) 6) การลงคะแนนถือ
เป็นความลับ (secret ballot) 7) เป็นการเลือกตั้งที่แท้จริง (genuine elections) 8) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถ
แสดงเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริง (free expression) เป็นต้น
Sarah Birch (2011) ชี้ให้เห็นว่าการทุจริตการเลือกตั้งคืออุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนา
ประชาธิปไตย ก่อให้เกิดการบิดเบือน ทำให้ผู้นำในรัฐเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการสามารถใช้การเลือกตั้งเพื่อ
สนับสนุนระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นความเสียหายที่ต้องใช้เวลาอีกนานในการแก้ไข
ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบของ Norris, Frank, and Martínez i Coma (2015) ที่ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเลือกตั้ง
ที่ไม่เสรีเป็นธรรมนั้น จะกลายเป็นสิ่งที่หนุนเสริมให้ระบอบการปกครองมีลักษณะผสมและค่อนไปทางเผด็จการ
เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบจัดตั้ง (established democracies) ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
ด้าน Daniel Ziblatt (2009) ทำการศึกษาวิเคราะห์ชุดข้อมูลดั้งเดิมที่ดึงมาจากบันทึกข้อพิพาทการ
เลือกตั้งจำนวนมากของรัฐสภาเยอรมนีในช่วง ค.ศ. 1871–1912 ผลการศึกษาพบว่าการทุจริตเลือกตั้งมี
ความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับระดับความไม่เท่าเทียมกันของสังคม ซึ่งจะนำไปสู่วงเวียนก่อให้เกิดปัญหาต่อการ
พัฒนากระบวนการประชาธิปไตย (democratization) ในเวลาต่อมา ด้าน ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร (2561) กล่าว
ในบทความเรื่อง “การทุจริตการเลือกตั้ง: อุปสรรคการทำให้เป็นประชาธิปไตยของไทย” ชี้ให้เห็นว่าการทุจริต
เลือกตั้งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ เพราะการเลือกตั้งที่มีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียง
นั้นจะทำให้สังคมอาจได้ผู้แทนที่ไร้ความสามารถไม่เป็นประโยชน์ต่อระบบการเมือง ทั้งยังมีส่วนบั่นทอนความ
เข้มแข็งและน่าเชื่อถือของระบบการเมืองลงไป
จากข้างต้น สรุปได้ว่าประชาธิปไตยที่มั่นคงและมีคุณภาพนั้น สัมพันธ์กับกระบวนการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ
ซึ่งในกระบวนการเลือกตั้งนี้สัมพันธ์กับความรู้ความเข้าใจและศรัทธาของผู้คนในสังคมต่อระบอบการเลือกตั้ง
ดังนั้น หากการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามวิถีทางรัฐธรรมนูญและไม่อาจตอบสนอง
ความต้องการของสังคม หรือไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายการดำรงอยู่อย่าง
มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยก็จะได้รับผลกระทบเนื่องจากศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันทางการเมือง
ทั้งหลายได้เสื่อมคลายลง (Seymour Martin Lipset, 1959) ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงไม่อาจวัดได้จากการจัดให้มี
3