Page 32 - kpi8470
P. 32
ความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบและความเป็นไปได้
2
เป็นรูปแบบการรวมกลุ่มความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประวัติความ
เป็นมาอันยาวนาน กล่าวคือ กฎหมายเกี่ยวกับเทศบาล ปี ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) ได้
กำหนดให้เทศบาลสามารถร่วมมือกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง
เช่น การเก็บขยะ การจ่ายน้ำ การจัดตั้งและดำเนินงานสถานีบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น
สหการมีสองรูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบแรก คือ สหการที่จัดตั้งขึ้น
มาเพื่อจัดทำบริการสาธารณะเพียงอย่างเดียว (syndicats intercommunaux a vocation
unique หรือ SIVU) และรูปแบบที่สอง คือ สหการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ
หลายอย่าง (syndicats intercommunaux a vocation multiple หรือ SIVM) ทั้งนี้ การ
รวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งสหการนั้น สามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะ คือ
❑ ลักษณะแรก สหการเฉพาะของเทศบาล (syndicats communues)
ซึ่งประกอบด้วย เทศบาลในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียง
รูปแบบเดียว (ความร่วมมือในระดับเดียวกัน) ซึ่งแยกได้เป็นสหการ
ที่มีหน้าที่เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มีอยู่ประมาณ 12,967 แห่ง
โดยภารกิจส่วนใหญ่ได้แก่ กิจการน้ำประปา ไฟฟ้า การจัดเก็บขยะ
มูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สาธารณูปโภค เป็นต้น ส่วนอีกประเภทหนึ่งได้แก่
สหการที่ดำเนินกิจการหลายอย่าง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,286 แห่ง
❑ ลักษณะที่สอง สหการผสม (syndicats mixte) เป็นการร่วมมือกัน
ข้ามไปสู่องค์กรบริหารราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด
(Departments) หรือภาค (Regions) ซึ่ง สหการผสมที่เกิดขึ้นมีจำนวน
ประมาณ 542 แห่ง
ลักษณะสำคัญของโครงสร้างการดำเนินงานของสหการ คือ สหการจะ
อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเทศบาล และมีคณะกรรมการบริหารซึ่งมาจากผู้แทนของ
เทศบาลแต่ละแห่งที่เข้าร่วมสหการทำหน้าที่บริหารสหการ โดยเทศบาลแต่ละแห่งจะเลือก
ผู้แทนแห่งละ 2 คน ทั้งนี้ สหการมีรายรับแยกเป็นเงินที่เทศบาลต่างๆ จ่ายสมทบ รายได้จาก
ทรัพย์สิน อากรค่าธรรมเนียม เงินกู้ และเงินอุดหนุนต่างๆ โดยสหการจะมีการประชุมกัน
อย่างน้อย 1 ครั้งต่อ 3 เดือน
สถาบันพระปกเกล้า